นศ. สถาบันพระปกเกล้า หนุน “ไผ่”
พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ชุมชน จ.เชียงราย
ทีมนักศึกษา สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ช่วยชุมชนชาวบ้าน จ.เชียงราย สนับสนุนการใช้ไผ่ พัฒนาและยกระดับเป็นสินค้าใหม่กว่า 40 ผลิตภัณฑ์ ผศ.ดร.บุญธิดา เอื้อพิพัฒนากูล รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เผยว่า ตนและเพื่อนในนามกลุ่มเหยี่ยว ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย จัดอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านเกี๋ยงห้วยน่าน เกี่ยวกับการแปรรูปไผ่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking โดยความร่วมมือกับมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ซึ่งดำเนินโครงการโดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ จนประสบความสำเร็จเบื้องต้น ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นของตนเองได้มากกว่า 40 ผลิตภัณฑ์ ตัวแทนนักศึกษา ยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงมีหลายข้อจำกัดด้วยกัน โดยเฉพาะการกระจายสินค้าดังกล่าวจึงทำได้ยาก นักศึกษากลุ่มเหยี่ยวจึงได้จัดการอบรมการทำธุรกิจออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้กับผู้เข้าอบรมเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ในช่วงวิกฤตดังกล่าว ที่สำคัญยังได้ทำความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไร่เชิญตะวันในการบริจาคต้นกล้าไผ่ จำนวน 9,999 ต้น ที่ ต.แม่ลอย อ.เทิง จ.เชียงราย เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นทุนทรัพยากรหมุนเวียนให้กับชาวบ้านชุมชนต่อไป โดยหลังจากได้ดำเนินโครงการกว่า 6 เดือน เกิดผลสำเร็จหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านมีรายได้เสริม ในไร่ของตนเอง และเชื่อว่าหากชาวบ้านมีการทำอย่างต่อเนื่อง จะเป็นหนทางของการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนอีกทางหนึ่งนอกจากการประกอบอาชีพหลัก และขอเชิญชวนชุมชนต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการและเข้ามาเรียนรู้จากชุมชนนำร่อง หมู่บ้านเกี๋ยงห้วยน่าน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้าน นางธัญญภัสร์ อุปปิง ตัวแทนหมู่บ้านเกี๋ยงห้วยน่าน จ.เชียงราย ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพเกษตรกรและแม่บ้าน ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งในเรื่องดินและน้ำที่ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่หวัง การค้าการขายก็ทำได้ยากขึ้น ราคาตกต่ำ ผลผลิตหลายส่วนจึงต้องเก็บไว้ทานเอง ดีใจได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกฝนจนได้แนวทางการประกอบอาชีพเกี่ยวกับไผ่ โดยเฉพาะการแปรรูปจากไผ่สู่แนวทางใหม่ ๆ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้ เนื่องจากว่าชุมชนชาวบ้านมีภูมิปัญญาเดิมอยู่แล้ว จึงได้รับการต่อยอดด้วยแนวทางใหม่ ๆ ช่วยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ เป็นประโยชน์ และตรงกับความต้องการของผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ความรู้เกี่ยวกับการขายออนไลน์ด้วย “ดีใจที่หลายภาคส่วนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ สร้างโอกาสในการทำอาชีพเสริมในช่วงวิกฤต จึงทำให้เห็นลู่ทางอาชีพและสร้างรายได้ อยากให้มีโครงการแนวนี้ต่อไป เพื่อเป็นที่ปรึกษาและช่วยชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป จนชุมชนเกิดความยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าในช่วงสถานการณ์ใดก็ตาม” นางธัญญภัสร์ กล่าวสรุป