MSN on January 24, 2021, 12:46:11 PM
“กรมชลประทาน” พาสื่อสัญจร ศึกษาผลกระทบอาคารบังคับน้ำท้ายเขื่อนภูมิพลสืบเนื่องจาก กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทสามารถ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด, บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ซิกม่า ไอโดร คอนซัลแตนส์ จำกัด เพื่อดำเนินโครงกรศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล ในโครงการอาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก, โครงการอาคารบังคับน้ำหนองขวัญ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร และโครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถิน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัด
ล่าสุด นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ได้นำพาสื่อมวลชนส่วนกลางและท้องถิ่น ลงพื้นที่สัญจร ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จุดแรกที่โครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถิน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน นครสวรรค์ พร้อมคณะมารับข้อเสนอแนะและชี้แจงการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถิน พร้อมกับสมาชิกสภาจังหวัดนครสวรรค์จาก 3 อำเภอ เก้าเลี้ยว, ชุมแสง และบรรพตพิสัย นำโดย นายกัลย์ชพร รอดบำรุง, นายถวิล เจริญคง, นายอรรณพ ทาเอื้อ และไพศาล เชี่ยวชาญเวช รวมถึงผู้นำท้องถิ่นให้การต้อนรับ
รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า “โครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโครงการที่มุ่งศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการบรรเทาปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงสภาพแวดล้อมและยุทธศาสตร์การพัฒนา เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลังจากการสร้างเขื่อนภูมิพลและพัฒนาระบบการชลประทานประเภทสูบน้ำหลังปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา การใช้น้ำในแม่น้ำปิงตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลจนสุดเขตจังหวัดตาก ความยาว 87 กิโลเมตร ประชนมีปัญหาการใช้น้ำมาโดยตลอด ปัจจุบันแม่น้ำปิงตื้นเขิน ปัญหาตะกอนทราย เกาะแก่งในลำน้ำ ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนทิศทาง ประชาชนสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรไม่ได้ สถานีสูบน้ำไฟฟ้าของกรมชลประทานจำนวน 10 สถานี และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 13 แห่งนั้น ก็สูบน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรไม่ได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำปิงต่ำมีปริมาณน้อยในแต่ละวัน”
กรมชลประทาน จึงจัดทำแผนหลักการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อคัดเลือกโครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิง จำนวน 3 แห่ง นำไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาเลขที่ จ 38/2562(สพด) ลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ระยะเวลาปฏิบัติงาน 540 วันแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับบริษัทที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อให้การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการให้แก่สาธารณชนได้ทราบอย่างกว้างขวาง จึงกำหนดจัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อเปิดโกาสให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงเปิดช่องทางการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด
จากนั้น นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะได้นำพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ ในจุดที่ 2 โครงการอาคารบังคับน้ำหนองขวัญ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
“ในเวลานี้ กรมชลประทาน มีข้อสรุปงบประมาณการสร้างพัฒนาอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล ทั้งที่คลองกระถิน จังหวัดนครสวรรค์ และหนองขวัญ จังหวัดกำแพงเพชร ในงบเท่ากัน 1,400 ล้านบาท ซึ่งจะเก็บกักน้ำได้ถึง 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามขั้นตอนกรมชลประทานจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในปี 2565 หาก ครม.อนุมัติ จะสร้างปี 2566 และเสร็จราวในปี 2568 ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางน้ำแล้ว ยังจะมีกาพัฒนาพื้นที่ทั้ง 3 นี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับการยินยอม และพร้อมมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนคนในพื้นที่ดังกล่าว” นายเฉลิมเกียรติกล่าวสรุป
« Last Edit: January 24, 2021, 12:50:49 PM by MSN »
Logged