บทความ
ทำความรู้จัก..โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
หลายคนอาจเคยเผชิญกับอาการตากระตุก หรือใบหน้ากระตุก เป็นๆ หายๆ จนรู้สึกรำคาญ และในบางรายเป็นมากจนอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจในบุคลิกภาพ แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร มีอันตรายร้ายแรงหรือไม่ และมีแนวทางการรักษาอย่างไร แพทย์หญิงธนิตา แสงเปี่ยมสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นภาวะความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า ซึ่งเลี้ยงโดยประสาทสมองคู่ที่ 7 โดยลักษณะอาการจะมีการกระตุกแล้วหยุดไม่สม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่อาการกระตุกมักเริ่มบริเวณรอบดวงตาก่อนคล้ายอาการตาเขม่น จากนั้นเมื่อตัวโรคเป็นมากขึ้นอาจมีการกระจายไปบริเวณปากและแก้มได้ อาการกระตุกหากเป็นมากอาจทำให้ตาปิดสนิท หรือทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณนั้นเกร็งค้างร่วมด้วยได้ โดยส่วนใหญ่อาการกระตุกมักจะเป็นมากเวลาผู้ป่วยเครียด ใช้สายตา ทำงาน หรืออดนอน นายแพทย์ศรัณย์ นันทอารี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรง โรคนี้ไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิตหรือพิการใดๆ การรักษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบุคลิกภาพกับความสวยงาม ถ้าคนไข้ไม่ได้เดือดร้อนและไม่อยากจะรักษาก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร นายแพทย์สมชาย โตวณะบุตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า การรักษาแบ่งเป็น 3 วิธี คือ ระยะแรกๆ ผู้ป่วยไม่อยากผ่าตัด หรือไม่อยากที่จะฉีดยา botulinum toxin ก็จะขอกินยาก่อน ส่วนใหญ่จะได้ผลช่วงต้นๆ พอเลยระยะหนึ่งไปแล้ว ใบหน้ากระตุกแรงขึ้นเริ่มเสียรูปร่าง วิธีที่ดีที่สุดที่ทั่วโลกนิยมคือ การฉีด botulinum toxin หรือ Botox สำหรับวิธีสุดท้ายคือในรายที่ไม่อยากกินยาและไม่อยากฉีดยา คือ การผ่าตัด
โดยการผ่าตัดก็จะเข้าไปแยกโรค แยกเส้นประสาทกับเส้นเลือดออกจากกัน ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายที่ผู้ป่วยจะเลือก หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติ มีอาการเขม่นของใบหน้า หรือตา เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 1-3 สัปดาห์ ร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาทอื่น อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป โรงพยาบาลธนบุรี พร้อมให้บริการวินิจฉัยและรักษา โดยทีมแพทย์ซึ่งประกอบด้วยประสาทอายุรแพทย์และประสาทศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านระบบประสาทและสมอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ระบบประสาทและสมอง HOT LINE 1645 กด 1 และ 0-2487-2000 และ www.facebook.com/thonburihospitalclub หรือสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ylKKFI-B6Aw