พิธีเปิดงานมหกรรมการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อศักยภาพของกองทัพและการปกป้องประเทศ (Thailand’s Armament and National Defense Research and Industry) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย มีความพร้อมในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ พ้นจากการคุกคามทุกรูปแบบ ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ สามารถบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้นั้น กองทัพบกจึงร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมดำเนินโครงการวิจัยทางด้านยุทโธปกรณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557-2563นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดเผยว่า “การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและโจทย์ความต้องการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของกองทัพในอนาคตเป็นระยะเวลา 5 ปี รวม 113 โครงการ เริ่มในปีแรก (พ.ศ. 2558) จำนวน 14 โครงการ ในปีที่ 2 (พ.ศ. 2559) จำนวน 18 โครงการ ในปีที่ 3 (พ.ศ. 2560) จำนวน 21โครงการ ในปีที่ 4 (พ.ศ. 2561) จำนวน 22 โครงการ ปีที่ 5 (พ.ศ. 2562) จำนวน 19 โครงการ และปีที่ 6 จำนวน 19 โครงการ รวมทั้งสิ้น 133 โครงการ ปัจจุบันมีนักวิจัยจากทุนโครงการนี้ทั้งสิ้นจำนวน 94 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและลดการนำเข้าของกองทัพโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและโจทย์ความต้องการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของกองทัพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาความมั่นคงของกองทัพ” ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยละนวัตกรรม กล่าวในตอนหนึ่งของการเปิดงานว่า“นิทรรศการที่จัดขึ้นนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการแสดงงานวิจัยด้านยุทโธปกรณ์สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกองทัพบก เราได้ทำโครงการนี้ยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 มีโครงการที่เข้ามาร่วมมือกันมากกว่า 100 โครงการ และมีนักวิจัยที่เป็นนักวิจัยหลักกว่า 100 ท่าน จากมหาวิทยาลัยมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานที่นำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณและนักวิจัย ซึ่งได้โจทย์ความต้องการจากกองทัพหรือหน่วยงานผู้ใช้ เรียกได้ว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานนี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงการที่เกิดขึ้นนี้เป็นความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ”“โครงการฯ นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อพัฒนานักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมและต่อยอดเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศในเชิงพาณิชย์ด้วย เพราะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมในกลุ่ม S-curve ที่ภาครัฐสนับสนุนในฐานะฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ส่งเสริมผลงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจำนวนมากที่พร้อมจะนำไปต่อยอดสู่ผลงานเชิงพาณิชย์ต่อไปโดยจะเห็นได้จากผลงานวิจัยเด่น (Product Champion) ที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของงานนิทรรศการในครั้งนี้ ที่สำคัญ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะพยายามผลักดันให้มีการพัฒนานักวิจัยและผลักดันงานวิจัย ตั้งแต่การพัฒนาต้นแบบไปจนถึงการนำไปสู่การรับรองมาตรฐานทางการทหาร การผลิต และการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ในลักษณะ Dual Use ที่สามารถตอบสนองการใช้งานทางทหารและในเชิงพาณิชย์พร้อมทั้งส่งเสริมให้เอกชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสและถ่ายทอดความรู้ของงานวิจัยไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงธุรกิจ หรือนำไปสู่การพัฒนาคนและการพัฒนาธุรกิจ Startup ต่อไป” สำหรับผลงานวิจัยที่ผ่านมาตรฐานของกองทัพบก (กมย.ทบ.) นำไปสู่การผลิตและใช้ประโยชน์ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาการออกแบบและผลิตชุดแหวนยางกันซึมที่ใช้ในปืนใหญ่หนักกระสุน วิถีราบแบบ 34 GH N-45 A 1 ขนาด 155 มม. ของ ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (โครงการปี 58) โครงการการเพิ่มสมรรถนะของระบบสื่อสารแบบควบรวมด้วยเทคโนโลยีระบุพิกัดจากดาวเทียมหลายระบบเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทางทหารของ รศ.ดร.มงคล รักษาพัชรวงศ์ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการการวิจัยและพัฒนาเพื่อดำรงสภาพและเพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์ : กรณีศึกษาของปืนใหญ่เบากระสุนวิธีโค้ง ปบค. 95 ขนาด 105 มม. แบบ M-101 A 1 (ปรับปรุง) ของ ผศ.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (โครงการปี 59) โครงการการวิจัยและพัฒนายุทธภัณฑ์ชิ้นส่วนซ่อมเพื่อการดำรงสภาพของระบบปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร ของรถถังรุ่น M48A5 และรุ่น M60A1/A3 ของ ผศ.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (โครงการปี 60)ส่วนผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาระดับคณะกรรมการกลั่นกรองผลงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารด้านหลักการ กองทัพบก (คกล.ทบ.) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการฐานข้อมูลภูมิประเทศเพื่อสถานการณ์ฝึกกรมรบพิเศษที่ 5 ของ ผศ.ดร.อรประภา ภุมมะ กาญจนะ โรแบร์ สังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากรใช้ประโยชน์โดยกรมรบพิเศษที่ 5 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ต่อไป และ โครงการการพัฒนาระบบอำนวยการยิงปืนใหญ่ทางยุทธวิธีด้วยการติดต่อสื่อสารวิทยุทางทหารแบบดิจิตอลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไร เงินงอก สังกัด มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทั้งนี้ภายในงานนิทรรศการแสดงผลงานโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์มีการเสวนาใน 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อ “ความเป็นมาของทุน ปัญหาอุปสรรค ความสำเร็จ และการนำไปใช้จริง” โดยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ และ ผศ.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.อรประภา ภุมมะกาญจนะ โรแบร์ สังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวข้อ “ทิศทางและแนวโน้มความต้องการด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ” โดย ศ.กิตติคุณสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ร่วมกับ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม พล.ต.สมบุญ เกตุอินทร์ ผอ.สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก พล.ต.เกษมศิริ มีความดี เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก พันเอก กรพล วนากมล ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาและพัฒนาการรบ สำนักนโยบายและแผน พันเอกพีรวัส สุขการค้า ผอ.กองอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและสรรพกำลังงานนิทรรศการแสดงผลงานโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ในครั้งนี้แสดงถึงความสำเร็จของการสนับสนุนการพัฒนานักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ในสถาบันอุดมศึกษา และทำให้กองทัพบกได้รับผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและมาตรฐานตรงต่อความต้องการ สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไป