MSN on November 28, 2020, 12:22:43 PM
ล้วงหัวใจ อสส. หนึ่งในทีมฮีโร่โควิด-19 “อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจำเป็นมาก แต่ความรู้ในการใช้งานให้ถูกวิธีสำคัญกว่า”

“ประเทศไทยจะไม่สามารถกู้วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จเลย หากขาดกำลังสำคัญของบุคลากรด่านหน้าอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) กว่าล้านชีวิตทั่วประเทศ” คำกล่าวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ยกย่องให้อาสาสมัครเป็นเสมือนฮีโร่ที่มาช่วยกู้วิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านี้เป็นเพียงอาสาสมัคร ที่เข้ามาช่วยเหลือด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น ทั้งที่ตนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคที่กำลังแพร่ระบาด วิธีการรับมือที่ถูกต้อง รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


นายศักดิ์ชัย กลิ่นสาด ประธานอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ชุมชนบึงพระราม 9 เล่าว่า “เมื่อได้รับข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย หน้าที่หลักของอาสาสมัครคือการเตรียมความพร้อมในการตั้งรับ แต่ปัญหาที่พบในช่วงแรกของการแพร่ระบาด คือความทุลักทุเลทั้งของเหล่าอาสาสมัครรวมไปถึงคนในชุมชน เนื่องจากโรคดังกล่าว เป็นโรคที่หลายคนไม่มีความรู้มาก่อน ไม่รู้ว่าต้องตั้งรับอย่างไร พวกเรารับรู้เพียงว่าโรคนี้ถ้าติดแล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยในตอนนั้นได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง ในสังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง แนะนำวิธีการป้องกันขั้นพื้นฐาน ทำให้พวกเรามีความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถนำความรู้เหล่านั้นมาบอกต่อแก่ชาวบ้านในชุมชนให้ตระหนักถึงการป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี

ตอนนั้นกลุ่มอาสาสมัครต้องทำงานอย่างหนัก เพราะในชุมชนบึงพระราม 9 มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 120 หลังคาเรือน แต่มีอาสาสมัครเพียง 4 ท่าน ดังนั้นอาสาสมัคร 1 ท่าน ต้องดูแลรับผิดชอบประชาชนในชุมชนเฉลี่ยประมาณ 40 หลังคาเรือน และยังต้องตั้งจุดคัดกรอง เพื่อตรวจบุคคลที่เดินทางมาจากสถานที่อื่นเข้ามาในชุมชนอีกด้วย ประกอบกับยังพบอุปสรรคในเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อที่ไม่เพียงพอ โดยกลุ่มอาสาสมัครที่ถือเป็นด่านแรกของชุมชนในการพบปะผู้คน แต่มีเพียงอุปกรณ์ป้องกันพื้นฐาน คือ หน้ากากอนามัย ถุงมือทางการแพทย์ และเจลแอลกอฮอล์ อีกทั้งในช่วงของการระบาดระยะแรกก็ขาดแคลนหน้ากากอนามัย จนทางชุมชนได้รับบริจาคผ้าม้วน และระดมทีมแม่บ้านมาช่วยกันตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้า สำหรับแจกจ่ายให้กับคนชุมชนที่ยังขาดแคลน”



นางสุนันทา ช้างมรกต หนึ่งในอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ชุมชนบึงพระราม 9 เล่าว่า “เราเป็นห่วงคนในชุมชน เพราะหากพวกเขาไม่รู้วิธีป้องกันตัวเอง ก็จะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ทางกลุ่มอาสาสมัครเองก็เสี่ยงเหมือนกัน ดังนั้นการที่ต่างฝ่ายต่างรู้จักป้องกันเชื้อด้วยตัวเอง จะช่วยให้เราไม่ต้องติดเชื้อ”


นายสมาน ระเวกโสม หนึ่งในอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ชุมชนบึงพระราม 9 เล่าว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยปัจจุบัน เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น ตามข่าวที่รายงาน ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความชะล่าใจ เพราะคิดว่าประเทศไทยเอาอยู่ อีกทั้งยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะคิดว่ายังไงเสียเราก็ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายคนในชุมชนเริ่มละเลยการป้องกันตนเอง เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือหรือการใช้เจลแอลกอฮอล์ลดน้อยลง

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกนั้น ทำให้เราได้บทเรียนมามากมาย และมองเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวเองและชุมชนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์อยู่เสมอ ไม่ควรประมาท โดยแนวทางป้องกันแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ “ความรู้” ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคและการป้องกันตนเองอยู่เสมอ เพราะในจุดนี้ถือเป็นจุดที่เราอ่อนแอมาก “อุปกรณ์ป้องกัน” ต้องรณรงค์ให้คนในชุมชนทำให้เป็นนิสัย เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และการหาอุปกรณ์ป้องกันที่ครอบคลุมให้แก่กลุ่มอาสาสมัคร และ “การสอดส่องดูแล” คนในชุมชนก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในชุมชน การกักตัว 14 วัน  เพื่อสังเกตอาการ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะได้รับความชัดเจนเรื่องวัคซีนป้องกันจากทางภาครัฐ”



ด้าน ผศ.ดร. แสงเดือน มูลสม ผู้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) กล่าวว่า “ในภาวะการแพร่บาดของไวรัสโควิด-19 บุคลากรด่านหน้าอย่างอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม. และ อสส.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นกองกำลังสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง รวมถึงต้องมีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้น อย่างเช่น ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานของบุคคลแต่ละประเภท การสวมใส่ก็ต้องทำตามขั้นตอนอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะการถอดชุดเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าการสวม ใส่ ถอด ทำผิดวิธี ก็ยิ่งทวีความเสี่ยงมากเช่นกัน”

จากความตระหนักดังกล่าว จึงเกิดเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อมอบองค์ความรู้ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ให้เป็นเสมือน “เกราะป้องกัน” แก่บุคคลากรด่านหน้า



ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไฟเซอร์ ได้เห็นความสำคัญของการเสริมความแข็งแกร่งให้คนด่านหน้า จึงผนึกกำลังกับพันธมิตร ทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันส่งต่อความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การบริจาคชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หน้ากาก N95 และ Face shield รวมไปถึงการผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบ วิดีโอคลิป (VDO Clip) นำเสนอแนวทางการปฏิบัติในการสวม-ใส่-ถอด-ทำลาย อุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) ที่ถูกต้อง มอบให้แก่บุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลระดับภูมิภาค และอาสาสมัครสาธารณสุข นำไปใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในการทำงานของตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ความช่วยเหลือดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต






อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจคัดกรองผู้ที่สุ่มเสี่ยงเข้ามาภายในชุมชน





การมอบอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ชุด PPE และหน้ากาก N-95 และถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและบุคลากรด่านหน้าที่ดูแลคนในชุมชน
« Last Edit: November 28, 2020, 12:30:57 PM by MSN »