happy on November 22, 2020, 04:45:09 PM
‘กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ’ :
เครื่องมือเพื่อบรรลุเป้า 10 เปอร์เซ็นต์ของงานวิจัย Local Enterprise


ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์

               เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ฝ่ายประสานงานกรอบวิจัย ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้มีการประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยที่รับทุนวิจัยภายใต้กรอบวิจัยดังกล่าว จำนวน 10 มหาวิทยาลัย (ปีงบประมาณ 2563) ซึ่งนอกจากการนำเสนอภาพรวมและแนวทางการทำวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยที่กำลังเดินการแล้ว ฝ่ายประสานงานได้เน้นถึงเป้าหมายสำคัญของกรอบวิจัยนี้ ที่ต้องพิสูจน์ว่า ‘ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าของสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ละรายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10’

               “งานวิจัยจะต้องพิสูจน์ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าสามารถไปทำให้วิสาหกิจชุมชนมีเงินเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ได้จริง นอกจากนั้นยังทำให้คนต้นน้ำ หรือเกษตรกรที่เป็นคนทำวัตถุดิบ มีรายได้เพิ่มขึ้นอยางน้อย 10 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย จึงจะถือว่างานวิจัยของท่านบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญ ที่ บพท. ตั้งไว้” ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานกรอบวิจัย Local Enterprises กล่าวกับผู้บริหารและนักวิจัยในแต่ละสถาบัน”

               ดร.บัณฑิต ย้ำว่า เนื่องจากทุนของ บพท. ภายใต้กรอบวิจัยนี้ ไม่ใช่การสร้าง Knowhow หรือสร้าง Knowledge เพื่อทำให้เกิดห่วงโซ่มูลค่าใหม่ (New Value Chain) อีกแล้ว แต่เป็นทุนเพื่อให้เกิดงานวิจัยที่เข้าไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของขาได้จริง

               “สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ให้ได้ ว่าปัญหาที่แท้จริงของเขาคืออะไร ไม่ใช่ดูแค่ความต้องการของเขา เช่น หากเขาบอกเราว่าต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งหากจะทำจริงมันก็คือการลงทุน เพราะฉะนั้น ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น จำเป็นต้องรู้สถานการณ์จริงของวิสาหกิจแต่ละแห่งเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง ‘สุขภาพทางการเงิน’ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ SMEs ที่ผ่านมาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ‘รุ่ง’ (มีกำไร และ มีสภาพคล่อง) ‘รอด’ (‘มีกำไร-ไม่มีสภาพคล่อง’ กับ ‘ไม่มีกำไร-มีสภาพคล่อง’) และ ‘รุ่งริ่ง’ (ไม่มีกำไร-ไม่มีสภาพคล่อง)


               “วิธีการนี้หากนำมาปรับใช้กับงานวิจัยของเรา ก็จะทำให้เราหาแนวทางในการทำวิจัยกับวิสาหกิจแห่งชัดเจนขึ้นได้ เช่น วิสาหกิจที่น่าจะรุ่ง เราก็เข้าไปช่วยก็อาจมีเป้าให้เขาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์เป็นหลัก ขณะที่วิสาหกิจที่ร่อแร่ ก็อาจไปเน้นเรื่องของการลดหนี้สิน หรือลดต้นทุน เป็นสำคัญ” ดร.บัณฑิต กล่าว

               ในส่วนของการบรรลุเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของ Local Enterprise แต่ละแห่ง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัยนั้น ดร.บัณฑิต กล่าวว่า  อยากจะเสนอให้เริ่มจากการทำ “Financial Analysis ที่ทีมวิจัยจะต้องเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการแต่ละราย เกิดความเข้าใจในศักยภาพและสถานภาพทางการเงินที่แท้จริงของตนเอง พรอ้มทั้งเขียน “กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ” ที่เป็นการนำข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านการขาย การผลิต การตลาด สภาพคล่อง และอื่นๆ มาวางแนวทางปฏิบัติใหม่ ออกมาให้ได้ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการเพิ่มมูลค่าของการดำเนินการให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์

               “หากจะถามว่าจะทำได้หรือไม่  ผมขอบอกว่าเรามีการทำกิจกรรมนี้กับผู้ประกอบการ SMEs ไปแล้ว 50 ราย และพบว่ากลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจที่เขานำไปปฏิบัตินั้น สามารถทำให้เขาบรรลุเป้า 10​เปอร์เซ็นต์ได้ไม่น้อยกว่า 30 ราย โดยยังไม่ต้องมีการใส่นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือกระบวนการใหม่ๆ เข้าไปเลย   ดังนั้นหากโครงการวิจัย ภายใต้กรอบวิจัย Local Enterprise ได้มีการนำแนวทางนี้ไปใช้กับวิสาหกิจชุมชนของตนเองบ้าง ก็น่าจะช่วยการลดภาระงานของทีมวิจัย ในการสร้างนวัตกรรม หรือกระบวนการ หรือการบริหารจัดการ ในแต่ละวิสาหกิจชุมชน  รวมถึงทำให้สามารถบรรลุเป้าหมาย 10 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อกำหนดในการรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท.ได้”

               ในช่วงท้าย ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ผลสำเร็จจากการทดลองทำกับผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 50 รายนั้น ขณะนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นหลักสูตร “เงินงอกเงย เดอะซีรีย์” ซึ่งเป็นการอบรมระยะ 10 เดือน ที่กำลังเริ่มอบรมให้กับ SMEs จำนวน 150 รายในช่วงปลายเดือนนี้  และอยากจะเรียนเชิญตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่รับทุนภายใต้กรอบวิจัย Local Enterprise จาก บพท. เข้าร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำวิจัยภายใต้กรอบวิจัย Local Enterprise ต่อไป เพราะนี่จะเป็นแนวทางในการพิจารณาการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้กรอบวิจัยนี้ ในปีงบประมาณ 2564 อีกด้วย



หมายเหตุ สำหรับ 10 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ประกอบด้วย

1.​ มทร.ธัญบุรี : โครงการวิจัยการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี

2.​ ม.ฟาฏอนี : โครงการวิจัยการพัฒนากลไกดูดซับเศรษฐกิจเครื่องแกงฮาลาลันตอยยีบันของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีสู่ตลาดในเครือข่ายมหาวิทยาลัยฟาฏอนี’

3.​ มทร.รัตนโกสินทร์ : โครงการวิจัยเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) จากสินค้าเกษตรพื้นถิ่นด้วยกลไกการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่ จังหวัดนครปฐมและประจวบคีรีขันธ์

4.​ มทร.ศรีวิชัย : โครงการวิจัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของภาคใต้บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขัน

5.​ มทร.พระนคร : โครงการวิจัยการพัฒนาและยกระดับมูลค่าสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนฐานทุนทรัพยากร วัฒนธรรมในพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี

6.​ ม.มหาสารคาม : โครงการวิจัยเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี

7.​ ม.อุบลราชธานี : โครงการวิจัยเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี

8.​ มรภ.นครศรีธรรมราช : โครงการวิจัยการยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา-ขนมลา สู่การพัฒนาชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืนตามอัตลักษณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

9.​ ม.พะเยา : โครงการวิจัยการยกระดับการผลิต แปรรูป และตลาดโคเนื้อจังหวัดพะเยา เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน จากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์

10.​ ม.หัวเฉียว : โครงการวิจัยการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชนและโอทอป ปลาสลิดจังหวัดสมุทรปราการตลอดสายโซ่การผลิตด้วยห่วงโซ่คุณค่าใหม่