“แตะเพื่อจ่าย” มาแรงในยุคนิวนอร์มอล วีซ่าเผยคนไทยแตะเพื่อจ่ายผ่าน
บัตรวีซ่าคอนแทคเลสทะลุสองล้านครั้งในหนึ่งเดือน
พฤติกรรมไร้เงินสดที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคตลอดไป อ้างอิงจากผลสำรวจของวีซ่า
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 18 พฤศจิกายน 2563 - วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิตอลระดับโลก เผยสถิติใหม่ด้านพฤติกรรมไร้เงินสดของผู้บริโภคชาวไทย ล่าสุดมีการ “แตะเพื่อจ่าย” ผ่านบัตรวีซ่าคอนแทคเลสมากกว่าสองล้านครั้งในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา หรือมากกว่าสิบเปอร์เซ็นต์จากการชำระเงิน ณ จุดขายของวีซ่าทั้งหมด
การเพิ่มขึ้นของจำนวนการทำธุรกรรมผ่านบัตรคอนแทคเลสของวีซ่า สอดคล้องกับผลสำรวจฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ที่ระบุว่าแปดในสิบของผู้บริโภคชาวไทย (79 เปอร์เซ็นต์) ชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสมากกว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมา นอกจากนี้สี่ในห้าของผู้ทำแบบสอบถาม (75 เปอร์เซ็นต์) ที่ไม่เคยชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสมาก่อน ยังแสดงความสนใจที่จะใช้บัตรคอนแทคเลสในการชำระเงิน แทนที่จะยื่นบัตรให้แคชเชียร์ทำธุรกรรมเหมือนในอดีต
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้เห็นผู้บริโภคชาวไทยเลือกใช้บัตรวีซ่าคอนแทคเลสเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จากยอดการใช้จ่ายผ่านวีซ่าคอนแทคเลสที่ทะลุสองล้านครั้งเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งเดือน เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชำระเงินแบบไร้เงินสดได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จนั้นเป็นผลมาจากความร่วมมือของพันธมิตรทางธุรกิจของเราทั้งธนาคาร วงการค้าปลีก และเทคโนโลยี ที่ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มจำนวนการออกบัตร การขยายจำนวนจุดรับบัตรวีซ่า และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคถึงประโยชน์ในด้านความรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยจากการชำระเงินด้วยเทคโนโลยีวีซ่าคอนแทคเลส”
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในการชำระเงินแบบไร้เงินสดนั้นยังอ้างอิงได้จากผลสำรวจเรื่องโควิด-19 ของวีซ่า ที่ได้มีการติดตามการใช้จ่ายผู้บริโภคชาวไทยในช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ โดยในผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าสามในห้าของคนไทย (61 เปอร์เซ็นต์) ได้เริ่มเปลี่ยนนิสัยในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด และเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรหรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือมากกว่าเงินสด นอกจากนี้ เกือบเจ็ดในสิบของคนไทย (69 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่าพวกเขาตั้งใจที่จะชำระเงินในรูปแบบดิจิตอล แทนการกลับไปใช้เงินสดแม้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะยุติลง
แรงขับเคลื่อนในการชำระเงินแบบไร้เงินสดในประเทศไทยนั้นได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเห็นได้ชัดจากผู้ค้ารายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร้านสะดวกซื้อ ปัจจุบันในประเทศไทยมีมากกว่า 500,000 ร้านค้าที่รองรับการชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลส
หมวดร้านค้าห้าอันดับสูงสุดที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกชำระเงินผ่านบัตรวีซ่าคอนแทคเลสในการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ร้านฟาสต์ฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และบริการขนส่งสาธารณะ
“ในประเทศไทย เรามองว่าการชำระเงินในรูปแบบคอนแทคเลสจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลจากการที่เราร่วมกันทำงานกับพันธมิตรในการเพิ่มจุดรับชำระบัตร รวมถึงการขยายหมวดร้านค้า และการนำเสนอนวัตกรรมการชำระเงินใหม่ๆ เข้ามาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน และสมาร์ทวอทช์ พร้อมกันนี้ วีซ่า ยังมุ่งทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทยปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ และผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุคนิวนอร์มอลและช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นฟูต่อไป” นายสุริพงษ์ กล่าวเสริม
ผู้ถือบัตรวีซ่าคอนแทคเลสสามารถใช้บริการ “แตะเพื่อจ่าย” ได้ทุกที่ที่รับการชำระเงินแบบไร้เงินสดโดยไม่จำเป็นต้องเซ็นต์ชื่อบนสลิปเมื่อมียอดการชำระต่ำกว่า 1,500 บาท
สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการใช้บัตรวีซ่าคอนแทคเลสได้ ที่นี่###
เกี่ยวกับวีซ่าVisa Inc. (NYSE:V) เป็นผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิตอลระดับโลก ภารกิจของเราคือการเชื่อมโยงโลกผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการชำระเงินที่เชื่อถือได้และมีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อช่วยให้ผู้บริโภค ธุรกิจ และเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตต่อไป นอกจากนี้เครือข่ายประมวลผลที่ทันสมัยและเชื่อถือได้ทั่วโลกของเราอย่าง VisaNet (วีซ่าเน็ต) มีหน้าที่ในการช่วยให้บริการการชำระเงินนั้นปลอดภัยที่สุด และยังมีศักยภาพในการจัดการธุรกรรมมากกว่า 65,000 รายการต่อวินาที เรามุ่งมั่นในการนำเสนอนวัตกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการค้าขาย การเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยี และยังทุ่มเทเพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสดสำหรับทุกคนในทุกสถานที่ โดยในขณะที่โลกเรากำลังพัฒนาสู่ระบบดิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบ วีซ่าได้ใช้แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ กำลังคน และเครือข่ายทั่วโลกของเรา เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนโฉมของโลกการค้าในอนาคต รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ About Visa visacorporate.tumblr.com และ @VisaNews