คณะแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านเตรียมรับ นศ.แพทย์ 64
โชว์หลักสูตรแพทย์แนวใหม่ 7 ปี 2 ปริญญา โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล
คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรม Open Day 2020 แนะนำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา ด้วยมาตรฐานการเรียนแพทย์แบบใหม่ระดับสากล พร้อมสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม รู้จักคิด ค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศตามคุณลักษณะแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สนองพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ อาคารศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคณาจารย์ ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้รับฟังรายละเอียดของหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน พร้อมตอบข้อซักถามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ให้นักเรียนได้ร่วมค้นหาตัวเอง และสัมผัสกับวิชาชีพแพทย์ ดังนี้1. กิจกรรมทำงานเป็นทีม ให้นักเรียนได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ โดยให้โจทย์เพื่อการวางแผน พูดคุย และ แก้ปัญหาร่วมกันภายในกลุ่ม
2. กิจกรรมแนะนำหลักสูตรโดยรุ่นพี่นักศึกษาแพทย์ รุ่นที่ 1 ในด้านการเรียนการสอน การทำกิจกรรม และการใช้ชีวิตให้กับน้องนักเรียน ๆ ที่เข้าร่วม
3. กิจกรรม kahoot ตอบคำถามความรู้ทางการแพทย์
4. กิจกรรมฟังเสียงปอด และเสียงหัวใจจากหุ่นจำลอง
5. กิจกรรมการฝึกตรวจเต้านมจากหุ่นจำลอง เพื่อค้นหาโรคมะเร็งในเต้านม คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือที่เรียกว่า The CRA Doctor คือ เป็นแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา รู้จักทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม แพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวมทั้งกายและใจ และเป็นแพทย์ที่รู้จักคิดค้นวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ความแตกต่างของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ.2563 ของคณะฯ คือ นักศึกษาจะได้เรียนในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงในแนวราบของแต่ละชั้นปี ที่เรียกว่า “Horizontal Modules” ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วยการผสมผสานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก โดยนักศึกษาจะเริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติด้วยสถานการณ์จำลองการเป็นแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 โดยมีการเชื่อมโยงวิชาในแนวราบกับโมดุลในแนวดิ่ง ที่เรียกว่า “Vertical Modules” จำนวน 6 โมดุล อาทิเช่น โมดุลแพทย์นักวิจัย โมดุลแพทย์มืออาชีพ โมดุลแพทย์ที่มีทักษะคลินิกเป็นเลิศ เป็นต้น โดยจะมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-7 โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน และการประเมินอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีการศึกษา รวมถึงการปูพื้นฐานให้นักศึกษาฝึกหัดค้นคว้าและรู้จักใช้ข้อมูลที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการ Evidence based practice และหลักสูตรเน้นการประเมินผลแบบ Formative Assessment เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ในทุกรายวิชาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งนักศึกษาจะได้ฝึกคิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร พร้อมกันนี้หลักสูตรใหม่ยังได้มุ่งเน้นการบูรณาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ครอบคลุมทุกสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่าน “Vertical Modules” 6 คอลัมน์ เพื่อฝึกให้นักศึกษาแพทย์ได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบเป็นองค์รวม และเป็นแพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและของโลก เพื่อสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในแบบของ CRA Doctor สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) ใช้ระยะเวลาศึกษา 7 ปี หรือ 14 ภาคการศึกษาระบบทวิภาค โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ระยะที่ 1: Early years เรียนที่คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ประกอบด้วย
ปีที่ 1: Becoming a doctor การศึกษาวิชาทั่วไป และเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นแพทย์ โดยได้เริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วยตั้งแต่ปีแรก
ปีที่ 2: Fundamentals of clinical science I วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ I
ปีที่ 3: Fundamentals of clinical science II วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ II ระยะที่ 2: Research and Innovation ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร
ปีที่ 4: นักศึกษาจะได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเป็นระยะเวลา 1 ปีที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล : University College London (UCL) สหราชอาณาจักร โดยมี 23 สาขาที่หลากหลายให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามที่สนใจ อาทิ Cardiovascular Science, Clinical Sciences, Global Health, Mathematics, Computers and Medicine, Medical Anthropology, Medical Physics and Bioengineering, Oncology, Orthopaedic Science, Policy, Communications and Ethics, Primary Health Care, Psychology, History and Philosophy of Science and Medicine, Sport & Exercise Medical Sciences, Women's Health เป็นต้น ระยะที่ 3: Later years เป็นวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกและการฝึกทักษะทางคลินิก ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร และโรงพยาบาลสมทบในการเรียนการสอน อาทิเช่น โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย
ปีที่ 5: Integrated Clinical Care I
ปีที่ 6: Life Cycle, Mental Health, Integrated Clinical Care II
ปีที่ 7: Externship and Preparation for Practice หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) เปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 2 ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 32 คน โดยมีเกณฑ์การรับสมัครนักเรียนที่จบการศึกษาชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า ที่มีผลสอบในระดับ AS หรือ A level โดยใน 3 รายวิชา ได้แก่ Biology, Chemistry และ Mathematics หรือ Physics หรือ ผลสอบ SAT II > 700 ใน 3 รายวิชา ได้แก่ Biology Molecular (Biology-M), Chemistry และ Mathematics Level 2 หรือ Physics หรือ IB > 6 points ระบุคะแนนสอบใน 3 รายวิชา ได้แก่ Biology (higher level), Chemistry (higher level) และ Mathematics ผลสอบภาษาอังกฤษ TOEFL > 100 หรือ IELTS > 7.0 มีจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ มีความสนใจสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม เปิดรับสมัครนักศึกษาโดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple mini-interview (MMI)
โดยขณะนี้เปิดให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกแล้ว ตั้งแต่ 1 พ.ย. – 24 ธ.ค. 63 ทาง https://admission.pccms.ac.th/สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ทาง www.facebook.com/MDPH.CRA
http://medical.pccms.ac.th