happy on October 30, 2020, 10:39:04 PM
จุรินทร์เตรียมดันไทยเป็น Art & Crafts Hub ของอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หนุน SACICT สร้าง Ecosystem ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ให้ชุมชนเติบโตผ่านงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน


กระทรวงพาณิชย์ เตรียมดันไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมไทยแห่งอาเซียน หนุนให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อให้ งานศิลปหัตถกรรมเติบโต ผ่านการติดอาวุธด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “นำคุณค่ามาเพิ่มมูลค่า” หวังใช้ภูมิปัญญาที่ต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม กระจายรายได้ให้ชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน


                นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์​กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการพัฒนาการค้าในทุกมิติ ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้เกิดการส่งเสริมการประกอบอาชีพศิลปหัตถกรรม เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชน จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ดำเนินการพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทยอย่างรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเน้นการเป็นเศรษฐกิจชุมชน ที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายหัตถศิลป์ไทยล้วนเป็นชาวบ้านและชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ นำภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างที่ได้รับการสืบทอด มาผลิตงานหัตถศิลป์ในแบบดั้งเดิม ดังนั้นเพื่อให้วงการศิลปหัตถกรรมของไทยเกิดการพัฒนาให้เท่าทันกับการแข่งขันของโลกยุคใหม่ จึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างให้เป็นแรงงานอาชีพสร้างสรรค์ ที่มีคุณภาพ ยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางและคนในชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีความโดดเด่นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ นำคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่ปัจจุบันมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมีการนำจินตนาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้ามีความแปลกใหม่และโดดเด่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้หนุนให้สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อให้งานศิลปหัตถกรรมเติบโต ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในระดับราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านการสร้างกระแสความนิยมใช้งานศิลปหัตถกรรมในสังคมไทย ด้วยกิจกรรมและการใช้บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยรู้สึกภาคภูมิใจและเกิดการซื้อใช้ เพื่อให้คนไทยในทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมเป็นพลังสำคัญในการดำรงรักษาคุณค่าความเป็นไทยผ่านงานศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าของชาติให้คงอยู่ต่อไป



                ทั้งนี้เมื่อไทยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขันในทุกมิติแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมงานศิลปหัตถกรรมแห่งอาเซียน (Art & Crafts Hub of ASEAN) ทั้งในมิติของ   การสืบสานรักษาต่อยอดองค์ความรู้หัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย และในมิติของการเป็นศูนย์รวมการค้า การลงทุนในงานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นแหล่งรวมนักลงทุน แรงงานคุณภาพ ผู้ประกอบการและผู้ที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจด้านศิลปหัตถกรรม สร้างตลาดการซื้อ-ขาย ตั้งแต่วัตถุดิบและชิ้นงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนการค้าดิจิทัล​ ให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ของอาเซียน ในอนาคต


                นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ​ กล่าวว่า ในปี 2564 นี้ SACICT ดำเนินการเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย โดยปรับความคิดและกระบวนการทำงานของผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น สีสัน ขนาด ลวดลาย และการใช้งานให้ตรงกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย ควบคู่ไปกับการเข้าไปดูแลและคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์ การกำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยเพื่อการส่งออก รวมถึงการรับรองถิ่นกำเนิดของงานหัตถกรรมไทย การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า รวมถึงลดกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึง


                SACICT เตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทย โดยได้ผสานความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จากนานาชาติ และยังเป็นเครื่องมือให้กับผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้สินค้า และมีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกันช่วยลดระยะเวลาในการทำงานลง เป็นการพลิกโฉมหัตถศิลป์ไทยไปสู่ SMART Crafts (หัตถศิลป์อัจฉริยะ) ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ ไปจนถึงปลายทางในการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ อันจะเอื้อให้ผู้ประกอบการงานคราฟต์ของไทยได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น หนุนให้เกิด Ecosystem ด้านงานศิลปหัตถกรรมอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นมิติใหม่ของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ชาวบ้าน ชุมชน คนทำงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับสังคมไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ได้อย่างสง่างาม









« Last Edit: October 31, 2020, 01:01:32 AM by happy »