MSN on October 27, 2020, 08:04:32 AM
ความเชื่อมั่นองค์กรของประเทศไทยติดอันดับดัชนีเวิลด์คอมเป็นครั้งแรก 

ดัชนีความเชื่อมั่นเวิลด์คอม (Worldcom Confident Index: WCI) เป็นงานวิจัยระดับโลกโดยใช้วิธีการพัฒนาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อติดตามความรู้สึกนึกคิด (Sentiment) และการมีส่วนร่วม (Engagement) ของผู้บริหารระดับสูง (C-Suite Executive) จากธุรกิจต่าง ๆ กว่า 54,000 ธุรกิจชั้นนำทั่วโลก ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเวิลด์คอมครั้งก่อน ๆ นั้นครอบคลุมถึงความเชื่อมั่นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ (CEO) และผู้บริหารระดับสูงด้านการตลาด หรือ ซีเอ็มโอ (CMO) ของบริษัทไทยระดับแนวหน้า แต่ดัชนีความเชื่อมั่นเวิลด์คอมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการคำนวณและจัดอันดับผลวิจัยของประเทศไทยเป็นการเฉพาะ

การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมแสดงให้เห็นว่า ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริหารไทยนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 31 อันดับ มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริหารอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศไทย


ทอม แวน บลาร์คอม กรรมการผู้จัดการบริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) หรือ TQPR Thailand พันธมิตรในประเทศไทยของเวิลด์คอม กลุ่มเครือข่ายที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์อิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า ถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริหารในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ในภาพรวมความเชื่อมั่นของผู้บริหารระดับโลกได้มีการขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี จากข้อมูลประกอบด้านล่างแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาสี่เดือนติดต่อกัน ที่ความเชื่อมั่นของผู้บริหารระดับโลกนั้นปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นนี้เป็นการตอกย้ำว่า ผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการหาช่องทางที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้จนบรรลุเป้าหมายในช่วงวิกฤตโรคระบาด


ระบบ AI วัดดัชนีความเชื่อมั่นเวิลด์คอมได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัว (ที่เปิดเป็นสาธารณะ) รวมถึงโพสต์จากบล็อกของผู้บริหารระดับอาวุโสของบริษัทชั้นนำทั้งหลายในกลุ่มเป้าหมาย โดยเมื่อได้รวบรวมข้อมูลแล้ว AI สามารถแปลและคำนวณการมีส่วนร่วมและความเชื่อมั่นของกลุ่มเป้าหมายได้ในหลากหลายประเด็น ระบบเอไอนี้ช่วยอำนวยถึงข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพราะหมายความว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเวิลด์คอมไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องบ่งชี้ว่าผู้บริหารกำลังพูดถึงสิ่งใด แต่ยังแสดงถึงความเชื่อมั่นหรือความกังวลของผู้บริหารที่มีกับแต่ละประเด็น

ประเด็นหลักที่ผู้บริหารทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่อง “การเพิ่มและฝึกอบรมทักษะ” ตามด้วยเรื่อง “การรักษาพนักงานที่มีความสามารถ” “ผลกระทบและบทบาทของสื่อมวลชน” รวมถึง “การลดการใช้ขยะพลาสติก และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน”



ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยยังมองว่า “การพัฒนาทักษะและทักษะใหม่” เป็นประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารมากที่สุด ตามด้วยเรื่อง “ผลกระทบและบทบาทของสื่อมวลชน” “การลดการใช้ขยะพลาสติก และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน” และ “การรักษาพนักงานที่มีความสามารถ” จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่มีทักษะที่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัว นอกจากนี้ ผู้บริหารยังให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนและการที่สื่อมีอิทธิพลต่อความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ในขณะที่ประเด็นเรื่องความยั่งยืนมีระดับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น หากต้องการรักษาและเสริมสร้างชื่อเสียง องค์กรต่าง ๆ ควรสื่อสารว่าแต่ละองค์กรมีวิธีจัดการกับเรื่องความยั่งยืนอย่างไร

ท็อดด์ ลินช์ กรรมการผู้จัดการของ เวิลด์คอม พีอาร์ กรุ๊ป ระบุว่า เป็นที่ชัดเจนว่าหากองค์กรต้องการรักษาพนักงานที่มีความสามารถมากที่สุดไว้ องค์กรนั้นจำเป็นจะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าจะดูแลให้พนักงานมีทักษะที่จำเป็นในการก้าวสู่ความสำเร็จในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่าผู้บริหารควรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการจัดการกับประเด็นเรื่องชื่อเสียงซึ่งเกี่ยวโยงกับพนักงาน สื่อมวลชน ความยั่งยืน และลูกค้า หากต้องการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของดัชนีความเชื่อมั่นเวิลด์คอมนั้นยังรวมไปถึงผลวิจัยของ 11 ภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีความเชื่อมั่นระดับสูงที่สุดในภาคการเงิน จากบรรดาภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดต่อประเทศ

ระดับความเชื่อมั่นและความกังวลในภูมิภาค ตอกย้ำถึงการตอบสนองที่แตกต่างกันต่อโรคระบาดทั่วโลก ผู้บริหารในเอเชียนั้นจะมีความเชื่อมั่นมากกว่าผู้บริหารในทวีปอื่นใน 2 อุตสาหกรรม (การบริการด้านการสื่อสาร และสินค้าฟุ่มเฟือย) ในขณะที่ผู้บริหารในอเมริกาเหนือมีความเชื่อมั่นมากกว่าผู้บริหารในทวีปอื่นใน 6 อุตสาหกรรม (ภาคพลังงาน การดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุ อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค) ส่วนผู้บริหารในแอฟริกามีความเชื่อมั่นมากกว่าผู้บริหารในทวีปอื่นใน 3 อุตสาหกรรม (สินค้าจำเป็น การเงิน และอุตสาหกรรมการผลิต) สำหรับผู้บริหารในยุโรปจะมีความเชื่อมั่นมากกว่าผู้บริหารในทวีปอื่นในเพียงอุตสาหกรรมเดียว (กลุ่มพลังงาน) โดยมีคะแนนเท่ากับผู้บริหารในอเมริกาเหนือ และสุดท้ายคือ ผู้บริหารในละตินอเมริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุด โดยมีความกังวลมากกว่าผู้บริหารในทวีปอื่นใน 5 อุตสาหกรรม (สินค้าจำเป็น การดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยีสารสนเทศ และอสังหาริมทรัพย์)
« Last Edit: October 27, 2020, 02:53:27 PM by MSN »