อว. ผสานพลังทุกหน่วยงานสร้าง ‘วัฒนธรรมวิจัย’หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างเดินทางพร้อมคณะผู้บริหาร และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวง อว. ลงพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน “บทบาทมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ : นวัตกรรมการสร้างเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทรัพยากรพื้นที่ถิ่นและภูมิวัฒนธรรม” ภายใต้ชุดโครงการวิจัยต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 25-27 กันยายน ที่ผ่านมาว่าการนำหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ของกระทรวงมาลงพื้นที่ร่วมกันเป็นคณะใหญ่ครั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน เพราะต้องการให้ผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยกันเสนอแนะข้อคิดเห็นเพื่อต่อยอดหรือส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่มากที่สุด อีกทั้งเพื่อให้เกิดคำว่า ‘วัฒนธรรมวิจัย’ กระจายไปสู่ระดับท้องถิ่นและชุมชนทั่วประเทศ รมว.อว.ยังได้กล่าวชื่นชมทุกพื้นที่ที่ได้ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ว่า ทุกเรื่องเป็นผลสำเร็จจากงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่สร้างเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง ทำให้เห็นว่าในวิกฤตที่ผ่านมาทั่วประเทศต่างได้รับผลกระทบ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ หากเศรษฐกิจฐานรากดี จะส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว “การลงพื้นที่ 3 วันนี้ผมพบเจอแต่ข่าวดีที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย ทั้งงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่ศึกษาด้านการจัดการทรัพยากร และยกระดับสินค้าของชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น หรืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ทำตัวเป็น demand หรือ ตลาดให้กับผ้าทอพื้นถิ่นจากกลุ่มผู้ผลิตในชุมชนต่าง ๆ และการสร้างเศรษฐกิจบนฐานทุนทางวัฒนธรรมให้กับตลาดทุ่งสง ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ล้วนแต่ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของงานวิจัยที่เข้าไปทำกับคนในพื้นที่และช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้จริง ที่สำคัญทำให้เห็นว่าชาวบ้านเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 น้อยมากหรือแทบไม่กระทบเลย เนื่องจากมีเศรษฐกิจฐานรากที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ไม่ได้เน้นไปที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะเดียวกันจากเสียงสะท้อนของชาวบ้านในชุมชนทุ่งสง ทำให้ผมทราบว่ารายได้ของคนที่นี่บางรายกลับเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า การมาดูงานพื้นที่เทศบาลทุ่งสงทำให้เห็นโมเดลการทำงานใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ต่างไปจากเดิมที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีการทะเลาะกัน แย่งงานกันเหมือนแต่ก่อน เป็นโมเดลใหม่ที่เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทุกหน่วยงาน “ผมเห็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่สร้างสรรค์ เห็นการทำงานร่วมกันของ ท้องถิ่น นักวิจัย ประชาคมในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เทศบาลเมืองทุ่งสงเป็นตัวอย่างที่ดี เราจะไม่เดินตามโมเดลเดิมที่ ที่มีปัญหามีอะไรไม่ดีก็รอรัฐมาแก้ไข แต่เราต้องใช้งานวิจัย ใช้สติปัญญา สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้เวลา ใช้ความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และชาวบ้าน ใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญรวบรวมคนเหล่านี้ให้มาทำงานร่วมกัน หากทุกพื้นที่สามารถนำโมเดลนี้ไปทำงานได้ก็จะทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้น” ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมพื้นที่ครั้งนี้ของ รมว.อว.และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงทำเห็นภาพของการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าเมื่อทุกหน่วยงานได้ลงพื้นที่ร่วมกันก็จะเห็นทิศทางการทำงานแบบต่อยอดและบูรณาการ ขณะเดียวกัน กลไกการทำงานของ บพท.คือ Area Based เป็นกลไกการทำงานวิจัยที่ต้อนรับทุกความร่วมมือ ทุกเครือข่ายภาคีที่มีใจจะพัฒนาพื้นที่ร่วมกันด้วยความเต็มใจ ซึ่งในพื้นที่หนึ่ง ๆ สามารถรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนได้หลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทและปัญหาในแต่ละเรื่อง เช่น พื้นที่ทุ่งสงแม้จะเคยได้รับทุนจาก บพท.ในเรื่องทุนวัฒนธรรม แต่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีบทบาทหลักก็สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันในพื้นที่ได้ เหล่านี้คือภาพการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ในการร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ ซึ่งอนาคตตนต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่จาก Area Manager เป็น Area Based Change Agent คือสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ส่วนรูปธรรมความสำเร็จในพื้นที่ตรวจงานในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้เห็นพลังของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นโครงสร้างความรู้ในการพัฒนาพื้นที่ ที่ใช้ความรู้ไปหนุนกระบวนการชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชน และกลไกในพื้นที่ ไม่ว่าจะกลุ่มทอผ้า กลุ่มปูม้า กลุ่มแปรรูป กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มประชาคมวัฒนธรรม ที่นำบริบทและวิถีชีวิตความเป็นอยู่เดิมมาผนวกกับงานวิจัยเชิงพื้นที่ กระทั่งสามารถสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง “การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่หวังผลแบบนี้ เราเริ่มจากการทำกรอบแนวคิดให้ชัดเจน แล้วทดลองนำร่อง เพื่อให้เห็น “Platform กระบวนการทำงาน กลไกรูปแบบการทำงาน เมื่อแนวคิดประสบความสำเร็จก็จะมีการถอดบทเรียนกลไกความสำเร็จเป็น Platform การทำงาน และใช้ทุนวิจัยและนวัตกรรมเป็นแรงจูงใจและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อไปจะเป็นการ repackage เพื่อขยายผล จุดเด่นงานวิจัยคือ พื้นที่ทดลองที่สามารถถอดบทเรียนขยายผลได้ ต่อไปเราจะขยายผลในสองมิติ เรื่องแรกเป็นการขยายเชิงแนวคิด Area base กับการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน เศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่ การสร้างมวลรวมในพื้นที่ผ่านฐานทุนทรัพยากรพื้นที่ ผ่านกลุ่มอาชีพ กลไกกลุ่มอาชีพ การสร้างตลาดในพื้นที่ และผ่านฐานทุนศิลปวัฒนธรรม ทำงานผ่านกลไกประชาคมและท้องถิ่น ส่วนเรื่องที่สองจะเป็น จะเป็นการขยายผลเชิงพื้นที่ ให้เกิดการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อประเทศให้มากขึ้น สำหรับ งานวิจัยด้านการสร้างเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทุนทางวัฒนธรรมนั้น ผอ.บพท. กล่าวว่า บพท. เริ่มจากการถอดบทเรียนแล้วเห็นการสร้างกลไกความร่วมมือของประชาคมวัฒนธรรมที่มีท้องถิ่นเทศบาลสนับสนุน แล้วนำงานความรู้มาจัดทำแผนที่วัฒนธรรมและพื้นที่วัฒนธรรมในรูปแบบตลาดวัฒนธรรม จะเห็นมุมของการนำงานวิจัยเป็นกระบวนการเข้าไปสนับสนุนความคิดของประชาคม จนเกิด "วัฒนธรรมวิจัย" โดยในระยะต่อไปจะมีการขยายผลการทำงานจากพื้นที่วิจัยเดิม 18 ย่าน เพิ่มเป็นอย่างน้อย 38 ย่าน (38 จังหวัด) รวมถึงจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการสนับสนุนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเชิงรูปธรรมที่นำไปสู่การขยายผลได้เร็วขึ้น