“สุชัชวีร์”เชียร์แผนฟื้นฟู “ขสมก.” ใหม่
ลดภาระประชาชน – ปฏิรูปภาพใหม่ทั้งระบบ
“อธิการบดี สจล.” เชียร์ ขสมก. ลุยแผนฟื้นฟูฯ ยกระดับการให้บริการคนกรุงฯ กว่า 3 ล้านคน หนุนจ้างเอกชนที่มีศักยภาพให้บริการ รับค่าจ้างเป็นกิโลเมตร ดีอาร์ไอใช้ต้นทุนทุกด้านคำนวณแม่นยำ เชื่อไม่น่าหลุดจนทำให้เกิดช่องทุจริต แนะควรเปิดทางเลือกเก็บค่าโดยสารทั้งรายวัน-รายเที่ยว รวมถึงการใช้บัตรสวัสดิการคนจนสำหรับคนที่มีรายได้น้อย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่า แผนฟื้นฟูของขสมก. มีการพูดถึงกันมานานกว่า 20 ปี แต่จะทำอย่างไรให้รายละเอียดในแผนได้เกิดขึ้นจริง และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สะดวก ปลอดภัย และค่าโดยสารไม่สูงเกินไป ปัจจุบันมีประชาชนในกรุงเทพฯ ใช้รถเมล์ในการเดินทางมากกว่า 30% หรือประมาณกว่า 3 ล้านคน ซึ่งผู้ใช้บริการมีทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่คุณภาพรถโดยสาร มีอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี ไม่มีความปลอดภัย รถเสียบ่อย คุณภาพทรุดโทรม ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน“ผมเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูขสมก. ฉบับปรับปรุงที่พิจารณาไม่กู้เงินเพิ่มเพื่อซื้อรถใหม่แต่ใช้วิธีการจ้างเอกชนวิ่งเป็นกิโลเมตร รวมถึงการกำหนดให้ค่าโดยสารมีอัตราเพียง 30 บาท ไม่จำกัดเที่ยว ไม่จำกัดระยะทางต่อวัน ซึ่งช่วยลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนได้หลายล้านคน ในภาวะปัจจุบันค่าใช้จ่ายค่าโดยสารเฉลี่ยตามอัตราค่าโดยสารรถใหม่อยู่ที่ 40-50 บาท ต่อวัน ต่อคน ในส่วนของรถที่จะนำมาให้บริการ ขอเป็นรถใหม่ที่มีความปลอดภัย และจะต้องเป็นรถไฟฟ้า EV หรือ NGV ที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการบริการดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถ เช่น ที่ป้ายรถประจำทาง ควรมีระบบแจ้งข้อมูลให้ผู้โดยสารทราบว่ารถเมล์จะมาถึงเวลาเท่าไหร่ ซึ่งต้องเป็นการแจ้งเวลาที่แม่นยำ และตรงต่อเวลาด้วย ซึ่งในปัจจุบันเริ่มเห็นบ้างแล้ว แต่อยากให้มีครบและครอบคลุมทั่วทั้งกทม.” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “การจ้างเอกชนมาร่วมเดินรถให้บริการ และจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรที่ให้บริการจริงนั้น หากทำได้ น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนให้กับ ขสมก. ได้มาก ทำให้ไม่ต้องไปกู้งบประมาณเพิ่มในการซื้อรถ สร้างภาระหนี้และดอกเบี้ยมากขึ้นจากการซื้อรถ โดยมุ่งเน้นที่การดูแลควบคุมคุณภาพในการให้บริการของเอกชนที่เป็นคู่สัญญา เชื่อมั่นว่าการจ้างเอกชนเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และดีกว่าการซื้อรถ อยากฝากให้ขสมก. คัดสรรผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพที่ดีที่สุด โดยกำหนดเงื่อนไข การให้บริการและสเปครถให้สูงๆ เข้าไว้ ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูล ต้องมีหน้าที่จัดหาสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งตัวรถ และพนักงานที่จะมาให้บริการ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการรักษาภาพลักษณ์ของบริษัทผู้ประกอบการ และ ขสมก. หากไม่ได้คุณภาพตามที่ ขสมก. กำหนด ก็ต้องปรับเอกชนให้หนัก รวมถึงมีการวางหลักประกันสัญญาจำนวนสูงมากๆ”
ในส่วนของนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า “กรณีที่มีกลุ่มผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนกลุ่มหนึ่งระบุว่าสามารถเข้ามาให้บริการรับจ้างวิ่งในอัตรากิโลเมตรละ 30 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ ตามที่เป็นข่าวนั้น ตนเองมีความยินดีที่จะเชิญเอกชนกลุ่มนี้ เข้าร่วมรับการพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไข แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ารถร่วมเอกชนกลุ่มดังกล่าวนั้นเป็นใครหรือกลุ่มไหนแต่หากสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข แผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงได้จริงก็พร้อมรับพิจารณา ส่วนเหตุผลที่มีการให้ความเห็นว่าคุณสมบัติและเงื่อนไขที่วางไว้ค่อนข้างจะสูงมากๆ นั้นต้องบอกว่าเพราะเราคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เชื่อว่าแผนฟื้นฟูฉบับดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับ ขสมก.และคนกรุงเทพมหานครในทุกๆ มิติ ทั้งในส่วนของค่าโดยสาร งบประมาณในการลงทุน อีกทั้งการลดปัญหาการจราจร ซึ่งหากเทียบกับแผนฟื้นฟูฉบับก่อน จะเห็นได้ว่ามีเพียงการกำหนดไว้เฉพาะเรื่องการกู้เงินมาเพื่อจัดหารถใหม่ โดยไม่ได้มีการคำนึงถึงภาระของผู้โดยสาร เป็นอันดับต้นๆ ที่ต้องรับภาระค่าโดยสารไปกลับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 บาท ต่อวัน ดังนั้นอัตราค่าโดยสาร 30 บาท นั่งได้ไม่จำกัดเที่ยวทั้ง ขสมก. และรถร่วมบริการ ถือเป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุดแล้ว”