happy on September 01, 2020, 08:52:00 PM
มหัศจรรย์หมู่บ้านพญานาคในที่ซ่อนเร้นแห่งลุ่มน้ำโขง


ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย รอคอยที่จะมาชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า​ “บั้งไฟพญานาค” ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงเชื่อว่า พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างมาชื่นชมยินดี จุดบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีของทุกปี ซึ่งบั้งไฟพญานาคนี้จะมีลักษณะเป็นลูกไฟสีแดงอมชมพู ไม่มีเสียงและควัน ไม่มีเปลว โผล่จากแม่น้ำโขงขึ้นตรงสู่ท้องฟ้าและดับกลางอากาศ ซึ่งลูกไฟนี้จะเกิดขึ้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง อย่างจังหวัดบึงกาฬ


เรื่องราวความมหัศจรรย์ของบั้งไฟพญานาคได้ถูกพูดถึงกันอย่างมากมาย ด้วยความเชื่อ และความศรัทธาเดิมที่มีอยู่แล้วถูกนำมาขยายผลในหลากหลายมิติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและการขับเคลื่อนในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ซึ่งได้นำแนวคิดจากเรื่องราวพญานาคที่เคยเห็นในแม่น้ำโขง และการได้สัมผัสด้วยประสบการณ์ของตัวเองซึ่งเกิดในหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นภาพที่จำฝังใจมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนั้นผมเองอายุราว ๆ 7 ปี ในฤดูฝนน้ำหลากด้านหลังบ้านมองไปทางไหนก็เห็นแต่ท้องน้ำท่วมที่นาไปหมด ผมเองมักแอบไปเล่นน้ำอยู่บ่อย และเช่นกันผมกำลังเล่นน้ำอยู่คนเดียวกลางวันแสกๆ มองไประยะ 20 เมตร ด้านข้างๆ เห็นภาพน้ำจากสระถูกดึงเป็นวงกลมขนาดใหญ่ตีขึ้นกลางอากาศ เป็นเส้นน้ำวิ่งคล้ายปั่นล้อจักรยาน ราว 5 นาที มองไปคล้ายๆ มีหางอะไรยาวๆ บางอย่างกำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ช่วงนั้นผมเองตกตะลึงยืนดูแบบนิ่งๆ ไปพักใหญ่ พอตั้งสติได้ก็รีบวิ่งเข้าบ้านทันทีและเล่าให้พ่อแม่ฟัง และก็ได้คำตอบแนวทางชัดเจนคือ เป็นถิ่นของพญานาคท่านที่อาศัยอยู่แถวนี้ ผมเองก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายเพราะคุ้นเคยและถือเป็นเรื่องปกติของที่นี่ แต่ความคิดนี้ก็ไม่น่าจะใช่ผมคนเดียว พอได้กลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิดหมู่บ้านภาพวาดพญานาค เพื่อสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนก็ได้มีโอกาสเก็บข้อมูลของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ และนั่นก็เป็นคำตอบของหลายท่านที่ได้มีประสบการณ์ร่วมเหมือนกับผม แต่อยู่ในหลากหลายมิติการสัมผัสและได้เห็น ซึ่งพญานาคไม่ใช่จะอยู่ตามแหล่งแม่น้ำโขงอย่างเดียวหากแต่พื้นที่ตรงไหนที่มีน้ำ ก็เชื่อว่าท่านจะสร้างปาฏิหาริย์ให้ได้เห็นเหมือนอย่างที่ผมเจอ เพียงแต่สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนเร้นแห่งแม่น้ำโขงเท่านั้นเอง


ภาพวาดพญานาคถูกนำมาเล่าในรูปแบบร่วมสมัยและผสมผสานเข้ากับลมหายใจของชุมชนในเรื่องราวของอาชีพและความเชื่อ พญานาคตัวแทนของชุมชนที่บอกเล่าจึงมีชีวิตที่น่าสนใจขึ้น เช่น พญานาคขายลอดช่อง - ที่มาของเจ้าของบ้านทำลอดช่องขาย พญานาคตัดผม - ที่มาของเจ้าของบ้านรับจ้างตัดผม หรือพญานาคทำสวนเกษตรโคกหนองนาโมเดล ก็เป็นพญานาคพ่นน้ำรดพืชผัก และที่ไฮไลต์สุดก็คือ ป้ายพญานาคที่บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้านอีสานริมน้ำโขง ที่คุ้นเคยกับบั้งไฟพญานาคเป็นอย่างดีเล่าเรื่องราวผ่านภาพวาดกราฟฟิตี้พญานาค มากมายกว่า 100 ภาพมากที่สุดในโลก


พญานาคได้นำพาศิลปินมากมายเข้ามาในพื้นที่เพื่อวาดภาพสร้างแหล่งท่องเที่ยว ไม่เว้นแม้แต่ ภาพวาดของเด็กหญิงสามตาที่พญานาคสีดำกอดรัดพ่นเล่นสาดสีใส่กัน ซึ่งพญานาคสีดำนี้เป็นหนึ่งในสี่ของตระกูลพญานาค ผลงานของศิลปินชื่อดัง ALEX FACE ที่เรามักจะเจอตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และผลงานภาพวาดประกอบพญานาคของครูโต - หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ ที่เป็นครูของผมก็ได้ฝากผลงานไว้ที่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ และผลงานของครูปาน - สมนึก คลังนอก ศิลปินชื่อดังพื้นเพจังหวัดบุรีรัมย์ก็ได้มอบภาพวาดพญานาคสีแสดเป็นประกายให้นักท่องเที่ยวได้มาถ่ายรูป และช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจในชุมชนอย่างมากมาย


แต่ที่พิเศษคือ มีประติมากรรมพญานาค 2 ชิ้นงาน ได้แก่ ประติมากรรมพญานาคสองฝั่งโขง เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของพี่น้องลาวไทย ที่มีแม่น้ำโขงกั้นกลางซึ่งล้วนมีความศรัทธาในตำนานของพญานาค โดยประติมากรรมนี้ได้แบ่งพญานาคเป็น 2 ส่วนคือ พญานาคส่วนหัวหมายถึงประเทศลาว คนที่มาท่องเที่ยวมีทั้งชาวลาว ชาวไทยและชาวต่างชาติขึ้นเหยียบบนแท่นแล้วนำศีรษะไปประชิดสัมผัสกับจมูกหรือลิ้นของพญานาค เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง และพญานาคส่วนหางหมายถึงประเทศไทย คนที่ท่องเที่ยวได้เดินลอดส่วนใต้ท้องลำตัวและหางพญานาค เพื่อความมีสุขภาพที่แข็งแรง อายุยืนยาว และความทรงจำในวัยเยาว์ตอนผมอายุ 7 ปี ที่ได้สัมผัสเรื่องราวของพญานาค ถูกปลุกวิญญาณขึ้นมาอีกครั้งเพราะบริเวณดังกล่าวนี้ถูกนำมาสร้างเป็นพื้นที่ให้กับท่าน พญานาคราช 3 เศียร สีเขียวมรกตไปทั้งลำตัว ลักษณะเป็นพญานาคขดลำตัวแล้วชูคอขึ้นมา 3 เศียร ตั้งตระหง่านสูงกว่า 5 เมตร โดดเด่นเป็นสง่าลอยมาแต่ไกลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้บูชา เป็นสิริมงคลให้กับชีวิต แผ่บุญบารมีให้เกิดอานุภาพทำให้สำเร็จทุกประการ


ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ มากมายเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากความศรัทธาของชุมชนที่ได้ร่วมใจกัน เปลี่ยนแปลงพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาสัมผัสเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่มีพญานาคเป็นผู้ปลุกจิตวิญญาณของชุมชนให้มีชีวิต และวันที่ 2 ตุลาคม 2563 วันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 บั้งไฟพญานาคนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดบึงกาฬเป็นประวัติการณ์ในช่วงเช้าและอยู่จนกระทั่งใกล้ช่วงเวลา 6 โมงเย็น ทุกท่านก็จะไปประจำจุดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เพื่อรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขง 30 กม. ซึ่งในช่วงเช้าจนถึงบ่าย สามารถมาสัมผัสงานศิลปะภาพวาดกราฟฟิตี้พญานาค และชมประติมากรรมพญานาค 2 ฝั่งโขงในชุมชน อีกทั้งได้กราบไหว้พญานาคราช 3 เศียร เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตอีกด้วย และในวันงานก็จะมีกิจกรรมดนตรี ชมงานศิลปะ และเดินตลาดชุมชนที่มีเสน่ห์

ขอเชิญทุกท่านแวะมาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านพญานาค ที่นำศิลปะมาออกแบบชุมชนในแนวทาง LOCAL สู่เลอค่า สร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน

สอบถามเส้นทางและกิจกรรมได้ที่เพจ FB: พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ