MSN on August 27, 2020, 07:44:47 AM
PwC ชี้ 20% ของบริษัทไทยใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน คาดจ้างงานชั่วคราว-เอ๊าต์ซ้อร์ซมากขึ้น หากโควิด-19 ยืดเยื้อ

กรุงเทพฯ, 26 สิงหาคม 2563 – PwC ประเทศไทย เผย 20% ของบริษัทไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำงานจากที่บ้านเป็นการถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน อีกทั้งช่วยลดต้นทุนค่าเช่าและสาธารณูปโภคจากการเช่าสำนักงาน แต่คาดหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ อาจเห็นบริษัทไทยหันมาพิจารณาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว (Contingent Workforce) การจ้างหน่วยงานหรือพนักงานจากภายนอก (Outsource) รวมไปถึงการจ้างผู้มีอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน


ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น จนกลายเป็นความปกติแบบใหม่ของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง

“เราประเมินว่า 20% ของบริษัทไทยปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เป็นการถาวร เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสำนักงาน ซึ่งนอกเหนือไปจากนโยบายนี้ ยังมีอีกหลายองค์กรด้วยที่เลือกใช้วิธีผสมผสานให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศเพื่อประชุมหรือเวิ้ร์กฉ็อป เพราะการทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียด และไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยจากข้อมูลเราพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ชอบที่จะทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์” ดร. ภิรตา กล่าว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ CEO Panel Survey ของ PwC ที่ทำการสำรวจมุมมองซีอีโอจำนวน 699 รายใน 67 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2563 ถึงรูปแบบของธุรกิจเกิดใหม่และแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  พบว่า 78% ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า จะหันมาใช้นโยบายการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) มากขึ้น ขณะที่ 76% พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ และ 61% ควบคุมความหนาแน่นของสถานที่ทำงาน

ความท้าทายของการทำงานจากที่ไหนก็ได้
อย่างไรก็ดี คุณภาพของงานและประสิทธิภาพของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นความท้าทายที่ผู้นำธุรกิจจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ ดังนั้น ดร. ภิรตา แนะนำว่า องค์กรจะต้องมีระเบียบปฏิบัติ และเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวัดผลการทำงานแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้จัดการหรือหัวหน้างานให้สามารถติดตามงาน เห็นผลลัพธ์ของงาน หรือสามารถช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหาของงานได้ทันท่วงที หรือในงานบางอย่าง ก็อาจนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานที่แม้จะทำงานอยู่ที่บ้านนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในการทำงานรูปแบบใหม่ให้กับพนักงาน รวมทั้งหาโอกาสในการพบปะสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายสังคมกับพนักงาน และอาจต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับเวลาพักระหว่างวันและส่งเสริมวัฒนธรรมการเข้า-ออกงานตามเวลา เป็นต้น

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ และยังไม่แน่นอนว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ ก็เป็นไปได้ว่า บริษัทไทยอาจหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานไปสู่การจ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่เรียกว่า Contingent Workforce การจ้างบริษัทหรือพนักงานแบบเอ๊าต์ซ้อร์ซ หรือการจ้างฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานบางงาน หรือบางโปรเจกต์มากขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน เพราะรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับพนักงานประจำในระยะยาวได้ดี สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง” ดร. ภิรตา กล่าว

ดร. ภิรตา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือวิธีการจ้างงานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) จะเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้บุคลากรขององค์กร สามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานและปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันและเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ขณะ

เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้แก่ลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 276,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com 

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 61 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศ

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2020 PwC. All rights reserved
« Last Edit: August 27, 2020, 07:46:40 AM by MSN »