fh400 on July 20, 2020, 10:35:18 AM
พุทธจิตวิทยา: เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในยุค New normal (หลักสูตร ป.โท และ ป.เอก พุทธจิตวิทยา)


        พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เป็นประธานในการเปิดโครงการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.สิริวัฒน์ ศรีเครือดง ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานกล่าวรายงานความเป็นมาของหลักสูตรพุทธศาสตร์มหาบัณฑิตและหลักพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา และวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการปฐมนิเทศเพื่อสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมขององค์กร กฎระเบียบต่างๆ แนวทางการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษา ตลอดจนสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างคณาจารย์กับนิสิต โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต เข้าร่วมโครงการ จำนวน 90 รูป/คน

        ในครั้งนี้องค์อธิการได้บรรยายพิเศษ หัวข้อเรื่อง พุทธจิตวิทยากับการดำรงชีวิตอย่างมีสุขในโลกที่แปรปรวน องค์อธิการบดีหลักการคิดตอนหนึ่งไว้ว่า ตัวชี้วัดการศึกษาคือ ความสามารถของบัณฑิตที่จะบริหารความแตกต่างระหว่างบุคคล ใช้วาจาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ความสามารถที่จะบูรณาการแนวคิดด้านจิตวิทยากับหลักการทางพระพุทธศาสนาอย่างไรให้กลมกลืนในทางปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ทั้งนี้คุณธรรมสำคัญของการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา อาศัยหลักกัลยามิตรธรรม 7 ประการ เป็นเครื่องมือหนุนนำให้เกิดสังคมกัลยาณมิตรในการศึกษา และให้เป้าหมายในการเรียนไว้เพิ่มเติมว่า นิสิตจะนำความรู้ความเข้าใจจากการเรียนไปใช้ชีวิตแบบปกติสุขตามแนวพุทธจิตวิทยา และแนะนำให้ผู้คนที่ประสบปัญหาให้พ้นจากช่วงวิกฤตและมีทางออกที่ถูกต้องให้มีชีวิตอยู่ในสังคมโดยอิสระจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างไร



        นอกจากนี้มีกิจกรรมกล่าวคำมอบตัวเป็นศิษย์ของนิสิตปริญญาโท รุ่นที่ 7 และนิสิตปริญญาเอกรุ่นที่ 9 กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่พบรุ่นน้อง พุทธจิตสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ซักถามข้อสงสัยการเรียนการสอน และก่อนจบโครงการ รศ.ดร.สิริวัฒน์ ศรีเครือดง ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ ได้นำนิสิตใหม่กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุเพื่อศิริมงคลแก่ชีวิต และสักการะรัชกาลที่ 5 ณ.มณฑปพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับปีนี้นิสิตที่สนใจมาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จากหลายอาชีพ อาทิเช่น ตัวแทนนิสิตปริญญาเอกรุ่นที่ 9 เป็นศิษย์เก่า มจร. ได้แก่ เรือตรีหญิงจิณฑ์จุฑา ศุภมงคล หรือ ผู้หมวดปลาทู ได้ให้เหตุผลมาเรียนต่อระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพุทธจิตวิทยาไว้ “ ศรัทธาต้องคู่กับปัญญา ต้องการเข้ามาศึกษา​วิธีการปรับชีวิตในการเดินทางสายกลางของเรา เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติสุข และส่วนช่วยในการพัฒนา​ผู้คนให้กลับไปใช้ชีวิตได้ในสังคมอย่างปรกติสุข​ สังคมจะน่าอยู่”

        หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตและหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการขยายการศึกษา เพื่อผลิต บัณฑิตที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทั้ง ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีความรับผิดชอบและมีคุณธรรม จริยธรรม ทำงานและสื่อสารร่วมกับบุคคลอื่นได้ เป็นอย่างดี โดยมีวัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการทางด้านพุทธจิตวิทยา มีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ และผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่น เกิดการพัฒนาจิตใจและประโยชน์ต่อสังคม อันสอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นที่ศึกษาพระไตรปิฎก และวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ทั่วไป



        ปัจจุบันหลักสูตรสาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาในระดับปริญญาโทรุ่นที่ 7 และระดับปริญญาเอก รุ่นที่ 9 มีอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้แก่ รศ.ดร.สิริวัฒน์ ศรีเครือดง รศ.ดร.สมโภชน์เ เอี่ยมสุภาษิต รศ.ดร.เมธาวี อุดมธรรมานุภาพ ผศ.ดร.ประยูร สุยะใจ ผศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ เลขานุการหลักสูตร ดร.สุวัฒสัน รักขันโท สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเพิ่มเติมได้ สำนักงานบัณฑิตศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาคารเรียนรวม โซน A ชั้น 3 ห้อง A 306 ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13170 โทร. 064-745 6253, 035-248-000 ต่อ 8400, 8208 เว็บไซต์ http://www.psymcu.mcu.ac.th