จากวิกฤตผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 3 พันราย สู่ความหวังปลดล็อกดาวน์ คนไทยใช้ชีวิตแบบ New Normal
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2563 จากที่มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม เพียง 42 ราย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงบางวันและวันละไม่กี่ราย แต่ได้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มทุกวัน จนมีจำนวนสะสมรวมถึง 100 ราย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นจำนวนหลักร้อย โดยมีจำนวนสูงสุดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 และ 143 ราย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม และได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมและบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 อย่างมีเอกภาพ โดยมีมาตรการสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่คงตัวและลดลงเป็นลำดับ จนในวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลังจากที่มีผู้ติดเชื้อทุกวันติดต่อกันนานถึง 65 วัน เมื่อจำแนกตามจังหวัดที่รับผู้ติดเชื้อเข้ารักษา (ไม่รวมผู้ติดเชื้อในกลุ่ม State Quarantine) ณ วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2563 พบว่า
- มี 67 จังหวัดที่รับผู้ติดเชื้อไว้รักษา
- ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อเลย จำนวน 10 จังหวัด
- ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ใน 28 วันที่ผ่านมา จำนวน 49 จังหวัด
- ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ใน 14 วันที่ผ่านมา จำนวน 12 จังหวัด
- ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ใน 14 วันที่ผ่านมา จำนวน 6 จังหวัด ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ในกิจการ/กิจกรรม 6 ประเภท และได้เริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายระยะที่สอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 โดยปรับเวลาเคอร์ฟิว จากเวลา 22.00 -04.00 น. เป็นเวลา 23.00 - 04.00 น. และผ่อนปรนให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต และกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ดำเนินการและใช้ชีวิตบน ฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือนิวนอร์มัล ในยุคโควิด-19
ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.)