happy on March 27, 2020, 11:21:52 AM
“Botulinum Toxin” กับประโยชน์ที่ให้มากกว่าความสวย


               โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อว่า​ โบท็อกซ์ (Botox) ถูกนำมาใช้ในแวดวงศัลยกรรมและเสริมความงามอย่างแพร่หลาย แต่รู้หรือไม่ว่า โบทูลินั่ม ท็อกซิน ยังมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการของโรคต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ​ โรคทางระบบประสาท

               นายแพทย์สมชาย โตวณะบุตร แพทย์อายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า โบทูลินั่ม ท็อกซิน เป็นสารเคมีชีวภาพที่มีผลต่อประสาทส่วนปลาย โดยเฉพาะออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวน้อยลง สกัดมาจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า​คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) มีอยู่ 7 สายพันธุ์ คือ A, B, C, D, E, F และ G โดยสายพันธุ์ที่นิยมใช้กันทั่วโลกคือสายพันธุ์ A

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=oiRpkueQsEE" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=oiRpkueQsEE</a>

               ในด้านการแพทย์ โบทูลินั่ม ท็อกซิน ถูกนำมาใช้ ในการรักษาโรคทางระบบประสาท ในส่วนที่ใช้กันมากที่สุดคือ โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก โรคคอบิด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มีความพิการของแขนขา รวมถึงโรคปวดบางชนิด เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดศีรษะ ไมเกรน และยังสามารถใช้แก้ปัญหาในผู้ที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณมือและรักแร้

               สำหรับกระบวนการการทำงานของโบทูลินั่ม ท๊อกซิน หลังจากแพทย์ฉีดเข้าไปในส่วนที่ต้องการรักษาแล้ว จะออกฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาทที่บริเวณรอยต่อระหว่างประสาทกับกล้ามเนื้อ ชื่อว่า อะซิทิลโคลีน (Acetylcholine) เมื่อเซลล์ไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้กล้ามเนื้อจึงขาดการรับรู้การสั่งงานจากเซลล์ประสาท ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ส่วนใหญ่สารตัวนี้้ก็จะอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งแล้วแต่บุคคล หลังจากนั้นกล้ามเนื้อจะค่อยๆ หดตัวจนกลับมาเป็นเหมือนเดิม

               ส่วนในแวดวงความงาม โบทูลินั่ม ท็อกซิน มีการนำมาฉีดเพื่อช่วยในการปรับรูปหน้า ยกกระชับผิว และลดเรือนริ้วรอย โดยบริเวณที่คนส่วนใหญ่นิยมคือ หน้าผาก หางตา หว่างคิ้ว ร่องแก้ม และร่องใต้ตา ซึ่งจะช่วยให้ริ้วรอยบริเวณใบหน้าคลายตัวลง ลดขนาดกล้ามเนื้อให้เล็กลง ทำให้หน้าได้รูป ผิวเรียบเนียน และเต่งตึงขึ้น โดยไม่ทำลายกล้ามเนื้อและรับความรู้สึกต่างๆ ได้เป็นปกติ

               อย่างไรก็ตาม ในข้อดีของการใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน รักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ก็ยังมีสิ่งที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องพึงระวัง ซึ่งผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ผู้ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ที่แพ้โบทูลินั่ม ท็อกซิน เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

               นอกจากนี้การรักษาด้วยโบทูลินั่ม ท็อกซิน ควรเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและแพทย์ที่มีความชำนาญ ตลอดจนการเลือกใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน คุณภาพดีที่มีโมเลกุลขนาดเล็กและบริสุทธิ์ เพื่อให้ผลการรักษาเกิดประโยชน์ ปลอดภัยต่อผู้รับการรักษา และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี โทร. HOT LINE 1645 กด 1 หรือ 0-2487-2000 เปิดบริการทุกวัน หรือ www.thonburihospital.com  , www.facebook.com/thonburihospitalclub และ www.youtube.com/watch?v=oiRpkueQsEE