news on March 21, 2020, 12:27:05 PM

คณะวิทยากรในงานสัมมนาการฉีดพลาสติก 4.0


สัมมนาการฉีดพลาสติก 4.0 แก่ผู้ประกอบการไทย


ITAP-สวทช. จับมือ มจพ. และภาคเอกชน พร้อมหนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาเทคโนโลยีการฉีดพลาสติก รองรับอุตสาหกรรมยุค 4.0


Dr. Jen-An Chang จากสมาคมการใช้โปรแกรมทางวิศวกรรมในงานแม่พิมพ์


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน พร้อมด้วยพันธมิตรภาคเอกชน จัดสัมมนาหัวข้อ “การฉีดพลาสติก 4.0 - ยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะ” แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการฉีดพลาสติก เตรียมความพร้อม SME ไทยกับการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 - เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ



นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช.
กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องส่งเสริมความรู้เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SME ให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสัมมนาครั้งนี้จะเน้นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติกของไทย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 ราย เพื่อรับฟังความรู้ที่หลากหลายจากวิทยากรในสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล มจพ. และผู้แทนบริษัทภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่มาบรรยายให้ความรู้ตอบโจทย์ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ แนวทางใช้โปรแกรมจำลองการฉีดเพื่อช่วยในขั้นตอนการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก การใช้เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรมการฉีดชิ้นงานพลาสติก และการนำเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) มาประยุกต์ใช้ในงานแม่พิมพ์ฉีด เป็นต้น รวมถึงร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอแนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการสนับสนุนงานด้านแม่พิมพ์ และเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาของแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก โดย Dr. Jen-An Chang (ดร.จาง เฉินอัน) จากสมาคมการใช้โปรแกรมทางวิศวกรรมในงานแม่พิมพ์ (Association of CAE Molding Technology) ประเทศไต้หวัน

“โปรแกรม ITAP สวทช. จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการการฉีดพลาสติก 4.0 - ยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะ ด้วยการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวจาก 2 คณะ ได้แก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ มจพ. และทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ สมาคมแม่พิมพ์ของประเทศไต้หวัน ซึ่งทั้ง 2 ทีมนี้จะทำงานร่วมกับโปรแกรม ITAP สวทช. เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการตอบโจทย์จุดอ่อนต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ พร้อมเสริมจุดแข็งสำหรับบริษัทที่ต้องการพัฒนาไปด้วยกัน”



ด้าน อาจารย์สรศักดิ์ วงศ์มณี อาจารย์ประจำ สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0 ทำให้ทุกองค์กรต้องเริ่มพัฒนาและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องกระบวนการสร้างแม่พิมพ์ฉีด จริง ๆ แล้วสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกกระบวนการของการทำแม่พิมพ์ เพราะหากไม่นำเทคโนโลยีมาใช้แล้วจะตามคนอื่นไม่ทัน หรือถ้าอยากเปลี่ยนแปลงยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความแตกต่างด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในประเทศไทยยังมีการใช้เทคโนโลยีจำนวนไม่มากนัก และยังมักจำกัดอยู่ในเฉพาะบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ประกอบการ SME เอง ควรจะต้องมีการขยับขยายเพื่อมองหาเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์และปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นได้ โดยในเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการ ทางมหาวิทยาลัยเองได้มีความร่วมมือกับ สวทช. โดยโปรแกรม ITAP ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการที่จะเข้าไปให้คำปรึกษา และแนะนำแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงงานหรือในบริษัทของผู้ประกอบการ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีแหล่งของเทคโนโลยีได้กว้างขวางมากกว่าผู้ประกอบการที่มีอยู่

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติก 4.0 เพื่อที่จะยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะของผู้ประกอบการ ประกอบด้วยเทคโนโลยีในหลายส่วน เช่น การใช้โปรแกรมจำลองการฉีดเพื่อช่วยในขั้นตอนการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกและการแก้ปัญหาการฉีด การใช้เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรมการฉีดชิ้นงานพลาสติก การใช้เทคโนโลยี V-line ของเครื่องฉีดพลาสติก การใช้เครื่อง 3D Printing มาประยุกต์ใช้ในงานแม่พิมพ์ฉีด การใช้การออกแบบอัจฉริยะด้วยการจำลองและเทคโนโลยีเทอร์มอล อินฟราเรด (Thermal infrared) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพของชิ้นงานฉีด ซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจสอบอุณหภูมิแม่พิมพ์ฉีดด้วยเทคโนโลยีเทอร์มอล อินฟราเรด ตลอดจน การใช้เทคโนโลยีระบบทางวิ่งร้อนและเทคนิคการทำให้แม่พิมพ์ร้อนเย็นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาการฉีดชิ้นงาน ซึ่งเป็นเรื่องของการควบคุมอัตราการไหลขณะฉีดเพื่อช่วยในการฉีดชิ้นงาน เป็นต้น

ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการการฉีดพลาสติก 4.0 - ยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะ สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โปรแกรม ITAP สวทช. โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1301, 063 915 6656 หรืออีเมล: panita@nstda.or.th






เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติก 4.0