happy on March 09, 2020, 08:22:27 PM
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รับมอบแคปซูลความดันลบสำหรับป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออันตรายกรณีเคลื่อนย้ายส่งต่อการรักษาผู้ป่วย
อีกหนึ่งมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือ “COVID-19” รองรับสถานการณ์และความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ตระหนักถึงการป้องกันและเตรียมความพร้อมโดยได้จัดมาตรการเฝ้าระวังและแนวทางคัดกรองตามนโยบายของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อรับมือกับสถานการณ์และเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตลอดจนบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งแต่การป้องกันและคัดกรองเพื่อให้ผู้รับบริการและบุคลากรได้ผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณที่จัดไว้สำหรับเป็นพื้นที่คัดกรองก่อนเข้าอาคาร ซึ่งได้จัดเครื่องเทอร์โมสแกน (Thermoscan) พร้อมเจ้าหน้าที่เพื่อคัดกรองซักประวัติ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าอาคาร ณ บริเวณด้านหน้า และประตูผู้ป่วยฉุกเฉินของอาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์, บริเวณด้านหน้าอาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ และบริเวณด้านหน้าศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ รวม 4 จุด รวมทั้งการเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 หรือเชื้อโรคอันตรายต่างๆ ทั้งนี้ คณะนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพ รุ่นที่ 2 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำโดย ประธานหลักสูตรสื่อสุขภาพ พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านบริการทางการแพทย์ ร่วมกับ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพ รุ่นที่ 2 และคณะได้นำอุปกรณ์การแพทย์ ชุดเต็นท์แคปซูลความดันลบ เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้ออันตราย (Stretcher Isolation Chamber, Negative Pressure) มามอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวน 1 เครื่อง โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้รับมอบ ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้ออันตราย เครื่องทันสมัยที่สุดและปลอดภัยที่สุดที่จะให้บริการในโรงพยาบาลภาครัฐ สำหรับชุดแคปซูลความดันลบ เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้ออันตราย (Stretcher Isolation Chamber, Negative Pressure) เป็นชุดอุปกรณ์ที่ประกอบขึ้นเป็นเต็นท์แคปซูลควบคุมความดันลบ สำหรับใช้ในกรณีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้ออันตรายและอุปกรณ์ติดเชื้อไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย ตัวเต็นท์แคปซูลมีลักษณะเป็นแบบครึ่งทรงกระบอก โดยผนังแคปซูลแบ่งเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนมีช่องถุงมือสำหรับช่วยในการจัดการผู้ป่วยหรือวัสดุภายในเต็นท์ทั้งหมด 8 ช่อง เพื่อช่วยสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง พร้อมทั้งมีแผ่นกรองอากาศสำหรับกรองอากาศก่อนเข้าภายในชุดเต็นท์แคปซูล ที่ทำงานด้วยระบบไหลเวียนอากาศ ประกอบด้วยพัดลมดูดอากาศ (Blower) เชื่อมต่อกับชุดกรองอากาศที่มีแผ่นกรองชนิด HEPA ที่มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ไม่น้อยกว่า 99.9995% โดยพัดลมจะดูดอากาศจากภายในเต็นท์ผ่านชุดกรองอากาศ เพื่อรักษาระดับความดันภายในชุดเต็นท์แคปซูลให้เป็นความดันลบและปล่อยอากาศสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออันตรายสู่ภายนอก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำแคปซูลความดันลบ มาใช้งานในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้บริการในผู้ป่วยรายที่ติดเชื้ออันตรายหรือเคสผู้ป่วยที่ต้องสงสัยต่อไป ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการเตรียมความพร้อมรับมือ COVID-19
« Last Edit: March 09, 2020, 08:32:27 PM by happy »
Logged