news on March 04, 2020, 01:34:15 PM


มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) จับมือ The Cloud  และ SCATH จัดเวทีแนะวิธีเล่าเรื่องให้ปัง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจคอกาแฟ หวังอนาคตเกิด Coffee Ecosystem


ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)เปิดเผยว่า DPU X ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จัดงาน Playfessional ในหัวข้อ Thailand Coffee Fest SCATH & The Cloud การเล่าเรื่องสู่การสร้าง  Ecosystem โดยมีนายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งบริษัทคลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด หรือเว็บไซด์ The Cloudและนายบริรักษ์ อภิขันติกุล (บิ๊ก) เจ้าของร้าน School Coffee หนึ่งในสมาชิกสมาคมกาแฟพิเศษไทย(Special Coffee Association of Thailand : SCATH) เป็นวิทยกร ซึ่งการเชิญวิทยากรทั้ง 2 ท่านมาเปิดมุมมองในครั้งนี้ เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่า กลุ่มคนทำสื่อ New Media ยุคใหม่อย่าง The Cloud เมื่อเข้ามาจับมือร่วมกับสมาคมกาแฟพิเศษไทย ใช้กลยุทธ์ในการสร้างคอนเทนท์อย่างไร จึงทำให้กาแฟไทยโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งนี้นักศึกษาจะได้สัมผัสแนวคิด วิธีจัดการสื่อ ความลึกของคอนเทนท์ รวมถึงการเลือกมิติมาเล่าเพื่อสร้างมูลค่า

เป้าหมายโครงการ Playfessional ของมธบ. เพื่อเน้นสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน เน้นการยกตัวอย่างให้นักศึกษาเห็นภาพที่ชัดเจน จากการเชิญผู้ที่เป็นมืออาชีพในด้านต่างๆ มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เพื่อจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา หันมาจริงจังกับตัวเอง ค้นหาความชอบ ลงมือปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากผู้ที่ประสบความสำเร็จจากวงการต่างๆ โลกทุกวันนี้หมุนเร็วและฉาบฉวยมากขึ้น คนที่จะประสบความสำเร็จในโลกแบบนี้ได้ต้องรู้จักการปรับตัว และ ค้นหาความถนัดของตัวเองให้เจอ


นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งบริษัทคลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด หรือ The Cloud กล่าวว่า สมัยเรียนสาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนมองภาพอาชีพในอนาคตไม่ออก เพราะเป็นเด็กกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ชอบอยู่กับมวลชนชอบทำสื่อ หลังเรียนจบจึงไปสมัครงานที่สถานีวิทยุแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นด้วยความที่เป็นคนอินดี้ จึงลาออกและไปสมัครงานที่นิตยสารชื่อดังในยุคนั้น แต่เมื่อเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีกระแสในวงการสื่อจะถูก Digital disruption จึงจับมือกับเพื่อนร่วมงานก่อตั้ง The Cloud คือ Story Telling หรือการนำนิตยสารมาวางบนอินเตอร์เน็ต จากประสบการณ์ทำสื่อสิ่งพิมพ์ ขยายผลไปสู่การสร้าง Impact ในวงกว้าง จึงทำให้รู้ว่าสื่อมีอิทธิพลมาก สามารถผลักดันและสร้างมูลค่าให้บางอย่างได้การแชร์เรื่องราวผ่านความละเมียดละมัย สามารถทำให้คนอ่านอินกับมัน เกิดกระแส

นายช้างน้อย กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างการร่วมมือกับสมาคมกาแฟพิเศษไทย จัดงาน Thailand Coffee Fest SCATH & The Cloud ในเร็วๆนี้ มาจากการร่วมนำเสนอกาแฟพิเศษที่ปลูกในไทย โดยใช้มิติการให้ข้อมูลป้อนสู่ Supply Chain กาแฟ ได้แก่ เกษตรกร นักแปรรูป นักคั่ว บาริสตา ลูกค้า ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าใช้สื่อในการให้ข้อมูลกับบุคคลทั้ง 5 จะสามารถยกระดับคุณภาพของกาแฟไทยได้ เช่น คอกาแฟ ชอบเลือกดื่มกาแฟที่ดีมีคุณภาพ คนกลุ่มนี้ต้องมองหาร้านกาแฟที่มีคุณภาพเช่นเดียวกัน ดังนั้นร้านกาแฟต้องมองหาโรงคั่วที่ดี นักแปรรูปที่ดี ซึ่งนักแปรรูป ก็ต้องซื้อเมล็ดกาแฟ จากเกษตรกรที่ปลูกกาแฟที่ได้มาตรฐาน กระบวนการย้อนกลับนี้ ใช้การสื่อสารให้รู้ว่ากาแฟที่ดีคืออะไร ส่งผลให้ Supply Chain มีคุณค่าขึ้น เมื่อลงลึกจะเห็นว่าความน่าสนใจของกาแฟพิเศษ ต้องปลูกอยู่ใต้ร่มเงาของป่า การสนับสนุนให้มีกาแฟปลูก เป็นการสนับสนุนให้ดูแลป่าและดูแลโลกด้วย ซึ่งความพิเศษเหล่านี้ช่วยยกระดับกาแฟไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม 


นายบริรักษ์ อภิขันติกุล (บิ๊ก) เจ้าของร้าน School Coffee หนึ่งในสมาชิกสมาคมกาแฟพิเศษไทย(SCATH) กล่าวว่า ในอดีตได้เรียนวิศวกรการบิน ที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างเรียนได้ทำงานชงกาแฟหารายได้พิเศษ จนเกิดความหลงใหลในรสชาติของกาแฟ จึงได้ออกตามหาเมล็ดพันธ์กาแฟดีๆเพื่อมาลิ้มลอง หลังเรียนจบได้ทำงานในสายวิชาที่เรียน ตลอดระยะเวลา 3 ปี งานประสบความสำเร็จดี แต่ด้วยปณิธานที่อยากดำเนินรอยตามพระราชดำรัชของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องหน้าที่ของคนไทย โดยมีวลีสำคัญคือ “ในฐานะคนไทยหนึ่งคน ต้องประกอบอาชีพที่พัฒนาประเทศหนึ่งอาชีพ”  จึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อทำธุรกิจเชิงบวก โดยเป้าหมายของธุรกิจไม่ได้มองที่เม็ดเงิน แต่มองความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก และเริ่มผันตนเองมาเรียนชงกาแฟอย่างจริงจัง หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้าร่วม Works Shop กับ Nine One Coffee ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในเรื่องกระบวนการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ จึงมีความเชื่อเรื่องกาแฟที่ดีต้องเริ่มจากการปลูกในดินและภูมิศาสตร์ที่ดีด้วย การศึกษาอย่างจริงจังในห่วงโซ่การผลิต การคั่ว และการชงกาแฟ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคนในวงการเดียวกันจนตกผลึก มาเปิดร้าน School Coffee ร้านกาแฟในฝัน ที่ทุกคนเข้ามาดื่มกาแฟจะได้เห็นคุณค่าของกาแฟจริงๆ

นายบริรักษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อธุรกิจอยู่ตัว ก็ลงไปดูเรื่องเกษตรกรรม กำไรที่ได้มาจากการเปิดร้านกาแฟในแต่ละปี  จะนำไปลงทุนทดลอง เครื่องคั่วกาแฟตัวใหม่ รวมถึงอุปกรณ์ที่ช่วยให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังแนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ทำกาแฟให้ยั่งยืนในระยะยาว เชิงคุณภาพ เพราะกาแฟออกผลผลิตเพียงปีละครั้ง และมีอุปสรรคสำคัญคือพื้นที่เพาะปลูกที่แตกต่างกัน รวมถึงภัยทางธรรมชาติ เราจึงต้องใส่ใจการปลูกเป็นพิเศษ ส่วนการคิดต้นทุนขายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งต้นทุนจำนวนต่ำกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ดังนั้นเราจึงพยายามทำให้เห็นภาพของเส้นทางสายกาแฟที่หมุนรอบเป็นวงกลม ทุกภาคส่วนมีความเกี่ยวข้องกันหมด ที่สำคัญการประกอบอาชีพนี้ได้ทิ้ง know-How และ Wisdom ให้คนรุ่นต่อไปอีกมากมาย อย่างไรก็ตามทุกวันนี้รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เป็นอยู่แม้จะไม่ร่ำรวยแต่มีความสุข การเรียนรู้แบบไม่กลัวผิด ใช้ความรู้ในโลกออนไลน์จากสถานที่ต่างๆ เป็นไกด์ไลน์ ลองผิดลองถูกกับการทดลองปลูก รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆในสมาคม ก่อให้เกิดการวางแผนที่ดี จนพัฒนาไปสู่การผลิตเมล็ดกาแฟไทยพิเศษ ที่มีมาตรฐานเมล็ดกาแฟระดับโลกในปัจจุบัน


นายคเณศ สุขราช (น็อต) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การเข้าร่วมงานในวันนี้ทำให้ได้ทราบว่าการสร้าง stories telling สามารถเพิ่ม value ให้แก่สินค้าได้ และยังมีการกล่าวถึงแนวทางในการสร้างธุรกิจว่าทำอย่างไรจึงจะได้เปรียบคู่แข่ง  โดยวิทยากรได้ให้แนวทางมา 3 ข้อ คือ 1.ต้องทำสินค้าที่คนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ 2.ต้องทำสินค้าให้มีคุณค่าและเป็นลิมิเต็ดอิดิชั่นและ3.สินค้าหรือแบรนด์ที่ทำออกมาต้องมี Impact กับสังคม ชุมชน รวมถึงตัวผู้ผลิตเอง ในการทำธุรกิจกับสิ่งที่ได้เรียนมาคือด้านนิเทศศาสตร์ ผมคิดว่าความรู้เรื่องการสื่อสารสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างธุรกิจได้ 

นายคเณศ กล่าวเสริมอีกว่า การจัดงานในครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดี  เป็นการให้ความรู้ในอาชีพต่างๆ  สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา แนะนำแนวทางว่าแต่ละอาชีพนั้นมีงานในตำแหน่งหน้าที่อะไรบ้าง และทำให้ได้รู้ว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้มีแค่การเรียนเพียงอย่างเดียว  แต่นักศึกษาต้องพยายามพัฒนาฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตด้วย  นักศึกษาบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอาชีพที่ตัวเองสนใจมีรายละเอียดที่ลงลึกไปอีกในเรื่องใดบ้าง  ถ้ามีการจัดเวทีในลักษณะนี้นักศึกษาจะได้รู้ว่าควรจะต้องฝึกพัฒนาไปในด้านใดบ้าง เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษามากครับ





« Last Edit: March 04, 2020, 01:35:47 PM by news »