news on February 23, 2020, 11:34:47 AM
กสอ. โชว์ความสำเร็จ การแปรรูปพืชท้องถิ่นสู่สินค้าอัตลักษณ์ชุมชน






จ.น่าน 22 กุมภาพันธ์ 2563 – อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดน่าน โชว์ความสำเร็จหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดันแปรรูปพืชท้องถิ่นสู่สินค้าอัตลักษณ์ชุมชน สร้างรายได้มหาศาล มะไฟจีนขึ้นแท่น โอทอปลอยฟ้าขายบนเครื่องบิน ชาเมี่ยง ยอดขายทะยานจากหลักหมื่น ปีเดียวพุ่งเกือบล้าน พร้อมมุ่งส่งเสริมแตกไลน์สินค้าเพิ่ม ตีตลาดออนไลน์

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า ภาคเหนือของไทยนั้นมีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งยังมีศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุน และบริการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงมีพืชผลทางการเกษตรที่สามารถนำมาแปรรูปสร้างรายได้หลากหลายชนิด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น อย่างการนำวัตถุดิบ หรือพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลักมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รองรับความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสุขภาพและความงามที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกเครื่องสำอางของไทยขยายตัวในตลาดโลกได้ดีต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก 6 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 35.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า เส้นผม และอนามัยของช่องปากและฟัน กสอ. จึงมุ่งส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น อย่างมะไฟจีนและเมี่ยง ซึ่งถือว่าเป็นพืชท้องถิ่นของทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดน่านที่มีจำนวนมาก

“แต่ละพื้นที่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราว (Story) ของมันอยู่แล้ว กสอ. จึงเข้ามาช่วยเติมเต็ม สร้างองค์ความรู้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ทั้งเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การวิจัย และพัฒนา เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล การให้คำปรึกษา การบริหารจัดการ รวมถึงการหาตลาดรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการทำตลาดออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาดในปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้ กสอ. ได้จัดอบรมเพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น “อัพยอดขาย เจาะตลาดออนไลน์ 2020” “เปิดด้วย Facebook รุกด้วย Line@” “ชี้ช่องรวย ด้วย Lazada” เป็นต้น ทั้งนี้ จากเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ยังสามารถเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังทุกภาคส่วน โดยผลิตภัณฑ์จากมะไฟจีนของวิสาหกิจชุมชนขวัญธาราและผลิตภัณฑ์จากเมี่ยงของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาเมี่ยง เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและสามารถเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการรายอื่นได้เป็นอย่างดี "นายณัฐพล กล่าว

ด้านนางธารารัตน์ ศรีจันทร์ดี ผู้นำวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเครื่องสำอางสมุนไพร "ขวัญธารา" เกิดจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ด้วยการนำเสนอผลไม้ท้องถิ่นของดีคู่ จ.น่าน คือ "มะไฟจีน" จากเดิมที่นำมาแปรรูปเป็นผลไม้เชื่อมแห้ง แยม และน้ำผลไม้ นำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยการนำเอานวัตกรรมเชิงพาณิชย์เข้ามาเสริมสร้างต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่ม แชมพู สบู่เหลว โฟมมูส แฮนด์ครีม และบอดี้โลชั่น โดยมีจุดเด่นที่นำเอาสารสกัดมะไฟจีนมาเป็นวัตถุดิบรายแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากภูมิปัญญา ทำให้ผลิตภัณฑ์ของขวัญธาราได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าโทอปที่มีชื่อเสียง และได้รับการวางขายในเว็บไซต์ Thaimall.com และบนแคตตาล็อคของสายการบินการบินไทย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 60

“เราเริ่มจากการไม่รู้อะไรเลย เป็นเหมือนผ้าขาว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เหมือนศิลปินที่มาแต้มสี เติมเต็มให้ผ้าขาวมีสีสันเป็นรูปเป็นร่าง จนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ และในอนาคต
เรามีแนวทางในการสร้างห้องเรียนเวิร์คชอปด้านสมุนไพร เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิต แชมพู สบู่เหลว บอดี้โลชั่น ฯลฯ ให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวที่จังหวัดน่านได้มาเรียนรู้และสามารถนำไปผลิตใช้ในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตลอดจนเรียนรู้เรื่องสมุนไพรและนำไปต่อยอดสมุนไพรในท้องถิ่นของตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นางธารารัตน์ กล่าว

นอกจากมะไฟจีน ผลไม้ท้องถิ่นของดีเมืองน่านที่สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมากมายแล้ว เมี่ยง ก็ถือเป็นพืชท้องถิ่นในภาคเหนือ ที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้อย่างมหาศาลเช่นกัน โดยนางบุญตุ้ม ปานทอง ผู้นำวิสาหกิจชุมชนชาเมี่ยง กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านนิยมนำยอดและใบเมี่ยงมาหมักดองเพื่อใช้เป็นของว่างรับแขกและเป็นยาสมุนไพร แต่เนื่องจากผลตอบแทนน้อยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาเป็นชาเมี่ยง โดยเริ่มจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมด้านการจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และฉลาก ของ กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 (ศภ.1 กสอ.) เมื่อปี พ.ศ. 2561 เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชาเมี่ยง อินฟินิตี้ที จากนั้นในปี พ.ศ. 2562 ได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ กับ ศภ.1 กสอ.อีก โดยได้รับการพัฒนาทางด้านวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อยอดแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมบำรุงมือและเท้า แชมพูลดผมร่วง ชะลอผมหงอก เซรั่มบำรุงผมและหนังศีรษะ

“การแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ ทำให้ยอดขายโตแบบก้าวกระโดด จากปีแรกที่มียอดขายเพียง 36,000 บาท เป็น 800,000 บาท ในปีที่ 2 สร้างความภาคภูมิใจในการทำงานและการเป็นผู้ประกอบการอย่างมาก ขณะที่ในปี พ.ศ. 2563 นี้ ชาเมี่ยงอินฟินิตี้ จะยังไม่หยุดนิ่ง ยังคงเดินหน้าต่อในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอด แตกไลน์สินค้าในรูปแบบอื่น ๆ โดยมีแผนจะนำใบชาไปสกัดและวิเคราะห์หาสารสำคัญที่ช่วยต้านอนุมูลอิสละและดูแลสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รายการ คือ น้ำยาบ้วนปาก และลูกอมระงับกลิ่นปาก โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาได้ ล้วนได้รับการอบรมให้ความรู้จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น” นางบุญตุ้ม กล่าวทิ้งท้าย











« Last Edit: February 23, 2020, 11:50:57 AM by news »