news on February 04, 2020, 03:04:35 PM
“นักวิจัย” แนะลดขยะทะเลไทย สร้างบุคคลต้นแบบปลูกจิตสำนึกคัดแยกขยะ-สร้างสิ่งประดิษฐ์เพิ่มมูลค่า








เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 ก.พ. ที่ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ มีการจัดงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2563 ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และงานวิจัยกับโครงการทะเลไทยไร้ขยะ” โดยมี รศ.ดร.สัญญา ศิริวิทยาปกรณ์ ผู้บริหารโครงการและขับเคลื่อนนโยบาย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการทะเลไทยไร้ขยะ รศ.ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ นักวิจัยโครงการทะเลไทยไร้ขยะ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ณรงค์ชัย โอเจริญ นักวิชาการโครงการทะเลไทยไร้ขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยโครงการทะเลไทยไร้ขยะ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเสวนา




โดย รศ.ดร.สัญญา กล่าวว่า โครงการทะเลไทยไร้ขยะเป็นโครงการที่วช. ให้ทุนสนับสนุน มีการรวบรวมนักวิจัยจากหลายหน่วยงานร่วมสร้างงานวิจัยตอบโจทย์ให้ทะเลไทยไร้ขยะ โดยการลงพื้นที่ 14 พื้นที่ชายฝั่ง มีภารกิจหลัก 5 ส่วน ดังนี้ 1. การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.การจัดการขยะบนพื้นฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการนำขยะเหลือใช้มาหมุนเวียนสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะ 3. การกำจัดขยะทะเลอย่างมีระบบ มีการลงพื้นที่ให้ชาวบ้านช่วยกัน มีการสร้างสิ่งประดิษฐ์ในการเก็บขยะในทะเล 4.การสร้างมูลค่าขยะพลาสติก และ 5. การลดการตกค้างไมโครพลาสติก

ด้าน รศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ขยะที่อยู่ในทะเลมาจากขยะที่เราทิ้งลงในแหล่งน้ำ จึงมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้เก็บขยะตามชายฝั่งทะเล คือรถเก็บขยะตามพื้นผิวชายหาด โดยจะเก็บดึงขยะจากทรายเพื่อนำมากำจัด ทำให้ประหยัดเวลา และกำลังคน มีต้นทุนประมาณ 2-3 แสนบาท ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนาต่อไป คาดว่าจะเก็บขยะที่ฝังลึกในทรายได้ นอกจากนี้ยังมีเรือเก็บขยะ โดยใช้ระบบรีโมทควบคุมการเก็บขยะในทะเลโดยไม่ต้องใช้คน มีการทดสอบในพื้นที่ทะเลจริง สามารถทดต่อคลื่นลมได้จริง เก็บขยะไกล ๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะหายไป เพราะมีระบบควบคุม

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้าร่วมโครงการนี้เป็นครั้งแรก จึงต้องหาพื้นที่ในการทำวิจัย โดยเลือกพื้นที่ทางชายฝั่งภาคตะวันออก พบว่ามีคำถามจากคนในพื้นที่คือ เขามีการจัดการเก็บขยะอยู่แล้ว แต่ขยะที่เก็บแล้วจะเอาไปทำอะไร โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งตนถูกสอนมาตลอดชีวิตว่าพลาสติกสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมีการคัดแยกที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ขยะพลาสติกทุกชนิดมีมูลค่าทั้งหมด

ด้าน รศ.ดร.สุชนา กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมทางสังคม ปัจจุบันเราเข้าใจและเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับขยะทะเล แต่จะทำอย่างไรที่จะปฏิบัติ และอนุรักษ์ทะเลได้จริง จึงต้องมีการสร้างบุคคลต้นแบบ ที่จะต้องมีจิตสำนึก เปลี่ยนพฤติกรรม สามารถสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่นได้ จึงสร้างแสมสารโมเดลเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการกำจัดขยะ รวมถึงสอนชาวบ้านในพื้นที่แยกขยะ สอนพฤติกรรมการใช้พลาสติก จนทำให้เห็นว่าบุคคลต้นแบบสามารถชักจูงชาวบ้านให้ร่วมกันคัดแยกขยะได้มากขึ้น
« Last Edit: February 04, 2020, 03:06:07 PM by news »