news on February 04, 2020, 07:47:08 AM





“วช.” ส่งมอบ “โดรน” ให้กรมอุทยานฯ ทำแผนที่ 3 มิติ – เฝ้าระวังพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพิ่ม




เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 3 ก.พ. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดพิธีส่งมอบอากาศยานไร้คนขับ พร้อมระบบประมวลผล และอุปกรณ์ในการทำแผนที่ 3 มิติ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ และใช้เป็นข้อมูลในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เข้าร่วม

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช.มีภารกิจเรื่องการนำองค์ความรู้งานวิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยกรมอุทยานฯ เป็นผู้ที่นำโดรนไปใช้งานได้จริง ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากกรณีเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย ทางวช. ได้นำโดรนร่วมภารกิจค้นหา เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ จึงคิดว่าโดรนน่าจะมีประโยชน์ ทางวช.จึงร่วมมือกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และกรมอุทยานฯ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเน้นการใช้งานในพื้นที่อุทยาน รวมถึงใช้งานในภารกิจต่าง ๆ

ขณะที่ นายจงคล้าย กล่าวว่า หากเรามีโดรนมาตั้งแต่ 20-30 ปีก่อนหน้านี้ เชื่อว่าป่าคงไม่หายไปขนาดนี้ แต่ในปัจจุบันเราเหลือพื้นที่ป่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในสมัยก่อนเราไม่มีเทคโนโลยีในการบันทึกภาพเพื่อเป็นหลักฐาน หากเมื่อก่อนมีภาพถ่ายทางอากาศอย่างชัดเจนแบบนี้ เราคงไม่ต้องไปทะเลาะกับชาวบ้าน แต่ในปัจจุบันเราสามารถใช้โดรนบินเพื่อบันทึกภาพได้อย่างชัดเจนว่ามีพื้นที่ไหนถูกบุกรุกไปบ้าง หากมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น เราก็จะใช้ภาพเหล่านี้เป็นหลักฐานได้

ด้านนายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ตนมีความสามารถ และเชี่ยวชาญเรื่องอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน โดยทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับ วช.และกรมอุทยานฯ ในปัจจุบัน โดรนไม่ใช่ของเล่นอย่างที่หลายคนมองในอดีต แต่ปัจจุบันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การถ่ายทำแผนที่ ซึ่งสมาคม ร่วมกับ วช. และกรมอุทยานฯ ได้ร่วมมือกันพัฒนาความสามารถของโดรนมาใช้ในการทำแผนที่ ในอดีตการถ่ายภาพทำแผนที่ต้องใช้เครื่องบินจริง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในปัจจุบันเราได้นำโดรนมาใช้ ซึ่งปลอดภัย ประหยัด สะดวก และใช้งานได้ง่าย โดยการควบคุมผ่านระบบซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ในแง่การใช้งานของกรมอุทยานฯ ยังสามารถใช้โดรนในการบินสำรวจ เฝ้าระวังต้นไม้ที่ปลูกแล้วว่าพื้นที่ใดหายไปบ้าง เพราะในอดีตจะใช้เจ้าหน้าที่ในการเดินสำรวจ ซึ่งใช้เวลานาน แต่เมื่อมีโดรนก็สามารถประหยัดเวลา และทรัพยากรได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการใช้งานโดรน จะต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ก่อนใช้งานจริง