โครงการ นิทรรศการศิลปะและกิจกรรมกรุณาแห่งรัก 2 สัปดาห์แห่งการแสดงออกซึ่งความงาม ความดี และความรัก
กรุณา กุศลาสัย (10 พฤษภาคม 2463 - 13 สิงหาคม 2552) เป็นนักเขียนบทความและสารคดี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมอินเดีย ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ.2538 รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ.2544 และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2546 ผลงานที่มีชื่อเสียง คือ ผลงานแปลกวีนิพนธ์ "คีตาญชลี" ของรพินทรนาถ ฐากูร และอัตชีวประวัติเรื่อง "ชีวิตที่เลือกไม่ได้"
กรุณา กุศลาสัย เดิมชื่อ นายกิมฮง แซ่โค้ว เกิดในเรือกระแชง หน้าวัดตะแบก ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ บิดามารดามีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีอาชีพค้าขายทางเรือ แต่เสียชีวิตเมื่อกรุณายังเด็ก จึงเติบมาโดยการเลี้ยงดูของน้าสาว เมื่อน้าสาวเสียชีวิตจึงได้ไปบวชเป็นสามเณร ใน พ.ศ.2476 เมื่ออายุ 13 ปี ในโครงการ "พระภิกษุสามเณรใจสิงห์" ของพระโลกนาถ พระสงฆ์ชาวอิตาลี (มีชื่อเดิมว่า Salvatore Cioffi) เพื่อนำภิกษุสามเณรจากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ไปศึกษาอบรมที่ประเทศอินเดีย
กรุณา ได้ศึกษาภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ 1 ของอินเดีย ได้รับทุนการศึกษาจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่ออายุเพียง 18 ปี และเริ่มเขียนข่าวและบทความ ส่งมาตีพิมพ์ในประเทศไทย ในวารสารธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ ใช้นามปากกา "สามเณรไทยในสารนาถ" จากนั้นได้เข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน แคว้นเบงกอลตะวันออก ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร เมื่อ พ.ศ. 2482
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สามเณรกรุณาถูกจับเป็นเชลยศึก เนื่องจากเป็นพลเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศคู่สงครามกับอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ปกครองอินเดีย และต้องเข้าค่ายกักกันในนิวเดลี พร้อมกับพระโลกนาถ และ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ในขณะนั้น กรุณาได้ลาสิกขาบท และพบรักกับโยโกะ โมริโมโตะ เชลยชาวญี่ปุ่นในค่ายเดียวกัน แต่ทั้งคู่ได้แยกจากกันหลังสงครามสงบ
หลังสงคราม กรุณาเดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ศึกษาต่อให้จบ และทำงานเป็นครูสอนภาษาสันสกฤต ภาษาอินเดีย และภาษาไทย ที่อาศรมวัฒนธรรมไทย–ภารต จากนั้นได้เป็นล่าม พนักงานแปล และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ประจำสถานกงสุลอินเดีย (ต่อมาเป็นสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย) และเป็นผู้บรรยายวิชาธรรมภาคภาษาอังกฤษ ที่ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ขณะทำงานอยู่ที่สถานทูตอินเดีย กรุณา กุศลาสัย ได้เป็นผู้แทนของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีน และเมื่อทำงานหนังสือพิมพ์ก็ได้เดินทางไปกับคณะผู้แทนการค้า ร่วมคณะกับ สุวัฒน์ วรดิลก กุหลาบ สายประดิษฐ์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี แต่ครั้งหลัง เมื่อเดินทางกลับมาในปี พ.ศ.2501 ภายหลัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ยึดอำนาจจาก จอมพลถนอม กิตติขจร จึงถูกจับและขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมกับ นายสังข์ พัธโนทัย และนายอารีย์ ภิรมย์ ต้องติดคุกอยู่เป็นเวลา 9 ปี จึงได้รับอิสรภาพ หลังจากล้มป่วยด้วยอาการทางสมอง และศาลอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อไปรักษาตัวที่บ้าน และได้รับการถอนฟ้อง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2512
กรุณา กุศลาสัย สมรสกับ เรืองอุไร กุศลาสัย (หิญชีระนันท์) เมื่อ พ.ศ.2492 และใช้ชีวิตคู่มาจนถึงปัจจุบัน ผลงานเขียนส่วนมากเป็นงานร่วมกันของ "กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย" ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างยืนยาวจนบั้นปลายชีวิตของอีกฝ่าย ต่างก็เป็น อรฺธางฺคินี (ภาษาสันสกฤต) หมายถึง ผู้เป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน และเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตคู่ที่งดงาม อย่างที่เรียกว่า “ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร” และถึงแม้ว่า อ.เรืองอุไร จะมีสายตาที่มองไม่เห็น แต่ อ.กรุณา ก็คอยเป็น “นัยน์ตา” ให้กับ อ.เรืองอุไร ตลอดของการใช้ชีวิต และผลิตผลงานร่วมกันในนาม "กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย"
ปัจจุบัน กรุณา กุศลาสัย ล้มป่วยด้วยโรคพาร์คินสัน และมีอาการของโรคสมองเสื่อม จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2552
ในเดือนกุมภาพันธุ์ เป็นเดือนแห่งความรัก และเพื่อรำลึกถึงความงาม ความดี และความรักของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย มีต่อครอบครัวและสังคมไทย ทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จึงได้ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดงานนิทรรศการศิลปะและกิจกรรม “ กรุณาแห่งรัก : 2 สัปดาห์แห่งการแสดงออกซึ่งความงาม ความดี และความรัก ” ในระหว่างวันที่ 9 - 21 กุมภาพันธ์ 2552 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 ปทุมวัน กรุงเทพฯ
ซึ่งรูปแบบของการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการแสดงภาพศิลปะจากศิลปินชั้นนำของประเทศกว่า 50 ชิ้น อาทิ ประเทือง เอมเจริญ ช่วง มูลพินิจ อังคาร กัลยาณพงศ์ รวมทั้งศิลปินจากศานตินิเกตันอีกหลายท่าน มาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อรำลึกถึงความดี ความงาม และความรักที่งดงามของ อ.กรุณา และ อ.เรืองอุไร กุศลาสัย บุคคลที่มีคุณค่าและควรเป็นแบบอย่างยิ่งของสังคมไทย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่มีคุณค่าต่อการแสดงออกถึงความงาม ความดี และความรัก เฉกเช่น อาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย คู่ชีวิตที่เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้เดินตาม
2. เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ชีวิตและผลงานของบุคคลที่อ่อนน้อมถ่อมตน อันเป็นแบบอย่างที่ดีของคนในรุ่นปัจจุบัน
3. เพื่อแผยแพร่แนวคิดและสนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาส และสามเณร ในการจัดตั้ง “กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน”
กลุ่มเป้าหมาย
1. นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
2. เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในสังคม จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิเด็ก มูลนิธิดวงประทีป
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ฯลฯ
3. กลุ่มพระสงฆ์ สามเณร นักบวชนิกายต่าง ๆ
4. บุคคลทั่วไปที่สนใจงานด้านสังคม
5. นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน สื่อมวลชน
วัน เวลา สถานที่
วันที่ 9-21 กุมภาพันธ์ 2552
ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8
ปทุมวัน กรุงเทพฯ
รูปแบบกิจกรรม
1.งานด้านวิชาการ
• ปาฐกถานำ “กรุณาแห่งรัก”
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
2.งานด้านวัฒนธรรม
• สารคดี “ชีวิตที่เลือกไม่ได้… กรุณา กุศลาสัย”
• กวีแห่งรัก อังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จีระนันท์ พิตรปรีชา
• การแสดงดนตรีไวโอลินและเป่าขลุ่ย
• การแสดงดนตรีไทย สายฝั่งธนฯ
• การแสดงโขนสาธิต ชุด ฉุยฉายหนุมาน และ ทศกัณฐ์ลงสวน
3.การจัดกิจกรรมแสดงภาพศิลปะ เพื่อ อ.กรุณา กุศลาสัย จากศิลปินชั้นนำ อาทิ อังคาร กัลยาณพงศ์
ทวี รัชนีกร ประเทือง เอมเจริญ ช่วง มูลพินิจ แนบ โสตถิพันธุ์ เทพศิริ สุขโสภา ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และศิลปินจากศานตินิเกตัน หลากหลายท่าน ฯลฯ จำนวน 50 ชิ้น
4.โซนการเรียนรู้ด้วยใจและสองมือ
• Work shop เกี่ยวกับกิจกรรมด้านศิลปะ จากอาจารย์เพาะช่าง และศิลปินอิสระ เกี่ยวกับการสอนเขียนภาพเกรยองค์ การสเก็ตภาพ การเขียนสีน้ำ ฯลฯ
• Work shop การเขียนกวี ดนตรี จาก ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
• การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จาก โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก
• กิจกรรมบอร์ดความคิด “ถ้าเห็นคำว่า กรุณา คุณจะนึกถึงอะไร”
• การลงมือทำเข็มกลัดอันเดียวในโลก
• การเขียนโปสการ์ด “ให้รักแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม” หรือบุคคลที่คุณอยากให้
• การแสดงนิทรรศการชีวิต อ.กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
บริเวณด้านนอก มีหนังสือผลงานและที่เกี่ยวข้องกับ อาจารย์กรุณา กุศลาสัย จำหน่ายเพื่อนำรายได้สมทบ กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน
ซึ่งมีวัตถุประสงค์
1. เพื่ออุดหนุนเยาวชนให้มีความเข้าใจในศาสนาที่แท้จริง
2. ส่งเสริมศักยภาพของสามเณรด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานการมีชีวิตอย่างมีความสุข
3. เปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสามเณร และเยาวชน ในด้านความคิดและด้านอาชีพ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
666 ถนนเจริญนคร คลองสาน กรุงเทพฯ 10600
โทร.083-224-9867 E-mail:
sripenchan@gmail.com