happy on January 20, 2020, 09:06:14 PM
กฟผ. คิกออฟโครงการโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลก

                กฟผ. ร่วมกับ กิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’– เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ลงนามสัญญาจัดซื้อและก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรมูลค่ากว่า 842 ล้านบาท โชว์ศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


                พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ระหว่าง กฟผ. กับกิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’– เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่าโดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมลงนามกับ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ และ Mr. Wang Xinping ประธานกรรมการ บริษัทChina Energy Engineering Group Shanxi Electric Power Engineering Co., Ltd. ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

                พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ของ กฟผ. เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ แบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยที่ลดข้อจำกัด ความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ สอดรับกับนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลตามแผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับปัจจุบัน (PDP2018) และช่วยให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า

                ด้าน นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำที่จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จากเขื่อนของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System หรือ EMS) มาบริหารจัดการพลังงานทั้งสองประเภท ทำให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้า โดยในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับโครงการเพื่อสร้างเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานประเทศไทย

                สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท จะใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูกภายหลังจากการลงนามในสัญญาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนธันวาคม 2563

                ด้าน ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธาน บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ‘BGRIM’ กล่าวว่า การลงนามสัญญาจัดซื้อและจ้างในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวของบริษัทที่จะโชว์ศักยภาพในการดำเนินการด้านพลังงานในทุกมิติ การที่ BGRIM ได้รับโอกาสในการพัฒนาและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำให้กับ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของประเทศไทย ทั้งยังเป็นเป็นการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานในการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท BGRIM พร้อมทั้งยังเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐ และเป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทได้รับโอกาสในการพัฒนาและดำเนินการโครงการโซลาร์ทุ่นลอยน้ำในโครงการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ด้วยความพร้อมและศักยภาพของบริษัทภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีศักยภาพและความได้เปรียบสูงในการบริหารจัดการต้นทุน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และ  การพัฒนาเทคนิควิศวกรรมที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการพัฒนาและก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล