MSN on January 10, 2020, 03:14:40 PM
กองทุนบัวหลวงประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2020 ขยายตัว 2.8% จับตาประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ดันเงินเฟ้อเพิ่ม-เงินบาทอ่อนค่า

กองทุนบัวหลวง ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2.8% ส่วนค่าเงินบาทคาดการณ์เคลื่อนไหวในกรอบ 29-31 บาท โดยนักลงทุนต้องพร้อมเผชิญความท้าทายรอบด้าน ขณะที่ เศรษฐกิจโลกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้น้อยลงที่ 3-3.3% จากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ทั้งความตึงเครียดทางการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน น่าจะเริ่มผ่อนคลาย เป็นผลดีต่อทิศทางตลาด


ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือกองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.8% โดยเศรษฐกิจจะต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากการบริโภคในประเทศที่คงจะขยายตัวได้ไม่มาก เพราะได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้ง รายได้เกษตรที่ลดลง รวมถึงภาระหนี้ที่สูง ทำให้กำลังซื้อลดลงต่อเนื่อง ส่วนการส่งออก อาจจะดีกว่าปีที่ผ่านมาจากฐานต่ำ แต่คงไม่ได้ขยายตัวมากนัก ดังนั้น การลงทุนภาครัฐจึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้

ส่วนประเด็นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่เกิดขึ้นนั้น จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน แต่เนื่องจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ราคาน้ำมันเบรนท์ก็น่าจะวิ่งอยู่ในระดับไม่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะยืนอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.0% ได้ ขณะที่การส่งออกสุทธิของไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างจากราคาน้ำมันแต่อยู่ในระดับจำกัด ยกเว้นความตึงเครียดจะยกระดับขึ้นมาอีกครั้ง 

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทปีนี้ กองทุนบัวหลวง ประเมินว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29-31 บาท โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าในปัจจุบันที่อยู่เหนือ 30 บาทเล็กน้อย จะมาจาก 1.ดุลการค้าที่คงไม่ดีเท่ากับปีก่อน 2.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเพิ่มความต้องการของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้น และ 3.อัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวสูงขึ้น ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่จะปรับตัวขึ้น หากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านยืดเยื้อ

ดร.มิ่งขวัญ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้คงจะขยายตัวได้ 3.0%-3.3% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังหดตัว ส่วนความตึงเครียดด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้นในระบบการค้าโลก หากต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโตต่อไปได้ในปีนี้ก็คงต้องพึ่งพาการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อลดผลกระทบความตึงเครียดในตลาดเงินและเศรษฐกิจ

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกปีนี้ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่

1) การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความกังวลของตลาดในระยะสั้น แต่จากเหตุการณ์ที่การเจรจาการค้าเปลี่ยนแปลงทิศทางรวดเร็วซึ่งเคยเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2561 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2562 ส่งผลให้ทีม BF Economic Research ของกองทุนบัวหลวงยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่การเจรจาการค้าจะเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว เพราะการเจรจาการค้าในระยะถัดไปจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากต้องหารือกันในประเด็นที่กระทบผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ ดังนั้น ตลาดจึงควรเตรียมพร้อมเผื่อรับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าที่อาจเลวร้ายลงได้อีก

2) เศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2562 มีทิศทางชะลอตัวทั่วโลก ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณสะท้อนเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในปีนี้

3) ธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และเริ่มเล็งเห็นว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ในปีนี้ จึงอาจเห็นประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

4) ผลกระทบของการนำอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) และการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำหรับเบร็กซิทนั้น พรรคอนุรักษ์นิยมที่นำโดยนายบอริส จอห์นสัน ชนะการเลือกตั้ง กวาดที่นั่งในสภาเพิ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2562 ด้วยเหตุนี้ข้อตกลงการทำเบร็กซิทของนายจอห์นสันจึงน่าจะได้รับความเห็นชอบจากสภาอย่างราบรื่น ทำให้สหราชอาณาจักรน่าจะถอนตัวออกจากอียูได้ในวันที่ 31 ม.ค. นี้ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในอนาคตจึงยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ คาดการณ์โดยอิงจากข้อมูลการเลือกตั้งในอดีตว่าตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนน่าจะผันผวนต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง โดยการลงทุนและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในปีเลือกตั้งมักจะชะลอตัวลง แต่ไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตของค่าจ้างแรงงาน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น ถึงแม้การลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐฯ จะลดลง แต่น่าจะได้รับแรงหนุนจากการบริโภคที่เติบโตมาทดแทนได้ ทำให้ภาพรวมการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจไม่ได้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ทีม BF Economic Research จัดทำแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นประจำทุกเดือน ทั้งยังมีการอัพเดทข้อมูลที่น่าสนใจเป็นประจำเมื่อมีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยผู้ที่สนใจเข้าไปติดตามได้ในเว็บไซต์กองทุนบัวหลวง และ BF Mobile Application

 กองทุนบัวหลวง
 10 มกราคม 2563