"วีรศักดิ์" ลุยปลุกตลาดหัตถศิลป์ถิ่นอีสาน
รมช.พาณิชย์ลงพื้นที่เปิดประชุมเครือข่ายผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือพร้อมเยี่ยมเยียนครูช่างและทายาท ที่จ.ขอนแก่น ลุยติดปีกเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เติมทักษะทางธุรกิจและนวัตกรรม หวังผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไทยเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะสร้างรายได้กลับสู่ผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ไทยอย่างยั่งยืนนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมเครือข่ายผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ทั่วประเทศเป็นภารกิจที่สำคัญของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ซึ่งการประชุมสมาชิก SACICT Craft Network ครั้งที่ 3 นี้เป็นการประชุมกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 424 ราย ณ โรงแรมอวานี จังหวัดขอนแก่น มีทั้งผู้ผลิตประเภท งานผ้า งานจักสาน งานโลหะ และเครื่องกระดาษ ส่วนใหญ่เป็นงานผ้า ซึ่งผ้าทอของภาคอีสานขึ้นชื่อเป็นอย่างมากด้านความปราณีตสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยการจัดกิจกรรมของ SACICT ในครั้งนี้เน้นเข้ามาเติมเต็มความรู้ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทักษะการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนการใส่นวัตกรรมเข้าไปในตัวสินค้า เพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานหัตถศิลป์ไทยเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น เป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้า ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิกในภูมิภาคให้สามารถทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ตามแนวทางศิลปาชีพในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มุ่งหวังให้อาณาประชาราษฎร์ได้สืบทอดการงานศิลปะ จนเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ให้ประชาชนไทย ตลอดจนสืบสานงานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบไป ทำให้สังคมไทยมีความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศนายวีรศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จ.ขอนแก่น ครั้งนี้ ยังถือเป็นโอกาสที่ดีได้ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ ทายาทฯ และสมาชิก ยังแหล่งผลิตโดยตรง พร้อมทั้งยังได้กระตุ้นให้กลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมสามารถพัฒนาการประกอบการให้แข่งขันได้ในระดับสากล นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญในด้านการเก็บรวบรวมอนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้งานหัตถศิลป์ไทย เพื่อจะต่อยอดให้เกิดการพัฒนาผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การผลิตผลงานที่มีความร่วมสมัยและสมัยนิยม เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์และเป็นการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับการเยี่ยมชมพื้นที่งานหัตถกรรมที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมทั้ง 3 แห่งได้แก่ 1.พื้นที่หัตถกรรมผ้าไหมมัดหมี่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ณ บ้านครูศิลป์ของแผ่นดิน (นายสงคราม งามยิ่ง) 2.แหล่งเรียนรู้กลุ่มแต้มหมี่ โดยครูช่างศิลปหัตถกรรม (นางสุภาณี ภูแล่นกี่) และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม (นางสาวนิดดา ภูแล่นกี่) 3. กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข โดยนายทวี สุโข กลุ่มศึกษานวัตกรรมเส้นไหมอินทรีย์และการประยุกต์ผ้าไหมมัดหมี่ สู่แฟชั่นในระดับสากล