MSN on November 29, 2019, 02:16:22 PM
PwC ชี้เทรนด์ธุรกิจบริการทางการเงินและเทคโนโลยีฯ จับมือรุกฟินเทคมากขึ้น หวังปิดช่องว่างขาดแคลนแรงงาน


กรุงเทพฯ, 29 พฤศจิกายน 2562 – PwC เผยอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมทั่วโลก หันมาใช้ฟินเทคเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง แต่พบส่วนใหญ่ประสบปัญหาแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและขาดความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับที่เพียงพอ ระบุการจับมือและเป็นพันธมิตรกันจะเป็นทางออกที่ดีในการปิดช่องว่างด้านแรงงานและนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเสริมให้กับธุรกิจ พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลควบคู่ไปกับการพัฒนาฟินเทค เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า


นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี ด้านธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน “2019 Global Fintech Report” ของ PwC ที่ทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (Technology, Media and Telecommunications) มากกว่า 500 คนทั่วโลก เพื่อหาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดถึงความสำเร็จและความท้าทายในการพัฒนาและสร้างผลกำไรจากการประยุกต์ใช้โมเดลทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฟินเทคว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมต่างกำลังนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารดิจิทัลที่กำลังออกแบบข้อเสนอและรูปแบบค่าใช้ค่ายใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า ผู้จัดการการลงทุนที่นำหุ่นยนต์ที่ปรึกษามาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ หรือ บริษัทประกันภัยที่นำเซ็นเซอร์มาใช้ในการติดตามสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยของลูกค้า โดยผลสำรวจของ PwC ระบุว่า ผู้บริโภคมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล โดยโจทย์ใหญ่วันนี้ไม่ได้อยู่ที่ฟินเทคว่า จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมบริการทางการเงินหรือไม่อีกต่อไป แต่บริษัทใดจะสามารถนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ได้ดีที่สุดและขึ้นเป็นผู้นำตลาด

ทั้งนี้ ผลจากสำรวจที่น่าสนใจมี ดังต่อไปนี้

•   การประยุกต์ใช้กลยุทธ์ที่มีฟินเทคเป็นศูนย์กลางมีความสำคัญยิ่ง ผลจากการสำรวจพบว่า 47% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 48% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินมีการนำฟินเทคมาใช้ในรูปแบบปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ 44% และ 37% ของบริษัทใน 2 อุตสาหกรรมนี้ยังได้นำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการของพวกเขา

นาย จอห์น การ์วีย์ หัวหน้าสายงานบริการทางการเงินโลก ของ PwC กล่าว “การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่จะเกิดผลได้ ต้องถูกขับเคลื่อนจากระดับบริหารลงสู่ระดับพนักงาน และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีกลยุทธ์ โดยคณะผู้บริหารและคณะกรรมการต้องมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการตัดสินใจถึงสิ่งที่องค์กรต้องการจะได้รับ”

•   อุตสาหกรรมบริการทางการเงินควรมองหาไอเดียจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีถึงการใช้ฟินเทคที่ดีที่สุด ผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรรมบริการทางการเงินที่ถูกสำรวจคิดว่า การประยุกต์ใช้ฟินเทคเพื่อปรับปรุงบริการให้เกิดความง่ายและรวดเร็วในการใช้งานจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาฐานลูกค้า โดยบริษัทที่มุ่งเน้นในการนำฟินเทคมาตอบโจทย์ความต้องการนี้ อาจตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าได้ แต่ไม่ได้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องแข่งขันกับบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอย่างเฉียบคม

•   อุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ควรปิดช่องว่างทักษะด้วยการฝึกอบรมพนักงานและมองหาแรงงานจากกันและกัน ผลจากการสำรวจพบว่า 80% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 75% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฟินเทค แต่ 42% ของทั้ง 2 อุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะเหล่านี้ ในขณะที่ 73% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินมีการจ้างบุคลากรจากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีเพียง 52% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เท่านั้นที่มีการจ้างทาเลนท์จากอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ในระยะต่อไป การหาวิธีการในการดึงดูดบุคลากรจากกันและกันของทั้ง 2 อุตสาหกรรมจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต เพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากกันและกัน ส่งผลให้การยกระดับทักษะแรงงาน (Upskilling) จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

•   บริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ควรหันมาเป็นพันธมิตรกันมากขึ้นในอนาคต ท่ามกลางกระแสของการควบรวมกิจการ การหาพันธมิตร หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตผ่านฟินเทคขององค์กรต่าง ๆ  ผลสำรวจพบว่า 78% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 76% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินมองหาการจับมือกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันกับตน โดยน้อยกว่าครึ่ง (44% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 47% ของบริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน) มองการจับมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านฟินเทค นี่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรของทั้ง 2 อุตสาหกรรมกำลังพลาดโอกาสทางธุรกิจในการร่วมมือกันในยามที่ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกำลังต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ก็ต้องการสินค้าและความเชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบเพื่อแข่งขันในตลาดบริการทางการเงิน

“ในประเทศจีนตอนนี้เราเริ่มเห็นการรวมตัวกันของ 2 อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเราเห็นหน่วยงานกำกับกำลังจับคู่ให้บริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นบิ๊กโฟร์ของทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และธนาคารพาณิชย์มาทำงานร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ หรือจะเรียกว่า เป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชนก็ว่าได้ โดยการรวมกันในลักษณะนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ จะเป็นฝ่ายที่ให้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินจะเป็นผู้ส่งมอบสินค้าและบริการ” นาย วิลสัน ชาว หัวหน้าสายงานเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมทั่วโลก ของ PwC กล่าว

ภูมิทัศน์ฟินเทคในปัจจุบัน

ปัจจุบันเทคโนโลยีเกิดใหม่ช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่มีต้นทุนต่ำลง แต่สร้างความสะดวกสบายและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ฟินเทคยังช่วยลดอุปสรรคในการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทบริการทางการเงินที่มีรากฐานมายาวนาน ไปจนถึงสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการหน้าใหม่จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่แม้จะแข่งขันกัน แต่ก็ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันหรือ Coopetition

ผู้ชนะและผู้แพ้

บริษัทใดที่นำฟินเทคมาประยุกต์กำลังเปลี่ยนโฉมตลาดสินค้าและบริการ ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่มีการนำมาใช้จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 3 ใน 4 ของผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนฟินเทคในอีก 2 ปีข้างหน้า มากกว่า 90% แสดงความมั่นใจว่า ฟินเทคจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าแม้โฟกัส ความก้าวหน้า และระดับความรวดเร็วในการใช้ฟินเทคกับตลาดของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกัน

นาย บุญเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในส่วนของประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด นี่จึงทำให้กระแสของการประยุกต์ใช้ฟินเทคในกลุ่มผู้ประกอบการไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการการชำระเงินออนไลน์ที่เติบโตอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มนอนแบงก์เอง ก็เข้ามาในตลาดจำนวนมากขึ้นเช่นกัน และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เรามองว่า ระยะต่อไปทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการความเชี่ยวชาญ และ Know How ของกันและกัน ด้านธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีที่ต้องการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เช่นเดียวกันที่บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และบริษัทสตาร์ทอัพก็ต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎระเบียบจากฝั่งการเงิน ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแบงก์ไทยหลายราย มีการจัดตั้งบริษัทย่อยด้านฟินเทค หรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

“อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 อุตสาหกรรมต้องคำนึงควบคู่ไปกับการพัฒนาฟินเทค คือ การมีมาตรการการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับลูกค้า”

เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 276,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 60 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2019 PwC. All rights reserved