MSN on November 19, 2019, 07:58:43 AM
ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ยูนิเซฟเผยรายงานฉบับใหม่ ชี้เด็กยากจนที่สุดยังคงเข้าไม่ถึงการพัฒนา


   On 20 November 1989 at United Nations Headquarters (UNHQ), the UN Convention on the Rights of the Child was adopted by the UN General. In an office at UNHQ, (left-right) UNICEF Executive Director James Grant, boy scout Brian, Under-Secretary-General Jan Martensen, UNICEF Goodwill Ambassador Audrey Hepburn and boy scout Michael make a collective telephone call to children at UN offices in Geneva, Switzerland, to announce the adoption of the United Nations Convention on the Rights of the Child that day.
© UNICEF/1989/John Isaac

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้รับการรับรองในวันที่ 20 พ.ย. 2532  ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยหลังพิธี ออเดรย์ เฮปเบิร์น ทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ ตัวแทนนักเรียนลูกเสือ และผู้บริหารยูนิเซฟในขณะนั้น ร่วมต่อสายไปหาเด็กๆ ที่อยู่ในสำนักงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแจ้งข่าวดังกล่าว
© UNICEF/1989/John Isaac


    Children representing countries around the world participate in the Outdoor Forum, held on the North Lawn of United Nations Headquarters on September 26 in celebration of the World Summit for Children.
© UNICEF/1990/Barbour

หลังจากที่มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตัวแทนเด็กจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้รวมตัวกันที่บริเวณสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ จัดเวทีพูดคุยกลางแจ้งในวันที่ 26 ก.ย. 2533 เพื่อฉลองการประชุมสุดยอดเพื่อเด็กโลก (World Summit for Children)
© UNICEF/1990/Barbour


    As part of the World Children’s Day in 2017, UNICEF Thailand hosted the forum and pledged the commitment to end violence against children at the Parliament.
© UNICEF/2017/Sukhum
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้จัดเวทีสิทธิเด็กและพิธีประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กในปี พ.ศ. 2560 เนื่องในวันสิทธิเด็กสากล ณ รัฐสภา
© UNICEF/2017/Sukhum


    More than 200 children and young people from Children and Youth Council and youth networks across the country gathered at the youth forum in 2017. 

ตัวแทนเด็กและเยาวชนกว่า 200 คน จากสภาเด็ก และเครือข่ายเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเวทีสิทธิเด็กและพิธีประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กในปี พ.ศ. 2560
© UNICEF/2017/Sukhum


กรุงเทพฯ 18 พฤศจิกายน 2562: องค์การยูนิเซฟได้ออกรายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า The Convention on the Rights of the Child at a Crossroads ชี้ให้เห็นว่าความเป็นอยู่ของเด็ก ๆทั่วโลกได้รับการพัฒนาไปหลายด้าน แต่เด็กที่อยู่ในกลุ่มยากจนที่สุดอีกจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงการพัฒนาที่จำเป็นต่อชีวิต

รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยนำเสนอความสำเร็จที่เกิดขึ้นจำนวนมากตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการสนับสนุนจากผู้นำประเทศและผู้กำหนดนโยบาย

นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า“ตลอดระยะเวลา 30 ปีตั้งแต่มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เราจะเห็นว่าเด็ก ๆ ทั้วโลกต่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กในกลุ่มที่ยากจนและเปราะบางที่สุดยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายมากมายในชีวิต”

รายงานระบุว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลงถึงร้อยละ 60 ในขณะที่สัดส่วนของเด็กวัยประถมศึกษาที่ไม่ได้เข้าเรียนลดลงจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 8 นอกจากนี้ หลักการพื้นฐานของอนุสัญญาฯ ซึ่งประกอบด้วย การไม่เลือกปฏิบัติ การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ตลอดจนสิทธิของเด็กในการมีชีวิตอยู่รอดได้รับการพัฒนา และได้รับการปกป้องและคุ้มครอง  ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการกำหนดกฎหมาย นโยบาย และข้อปฏิบัติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558-2559 ระบุว่า เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนเกิด เด็กที่วัยประถมศึกษาถึงร้อยละ 95 ได้เข้าเรียนในระบบ แต่ความเหลื่อมล้ำอีกหลายด้านยังคงมีอยู่ โดยเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ในครอบครัวยากจน ยังคงล้าหลังทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และพัฒนาการโดยรวมเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ยังมีเด็กในประเทศไทยถึงร้อยละ 22 ที่ต้องเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ ซึ่งอัตราดังกล่าวสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดชายแดนใต้กำลังเผชิญกับภาวะแคระแกร็นในอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศมาก อีกทั้งยังมีเด็กข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนทั้งหมด
เมื่อไม่นานมานี้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยได้ปล่อยวิดีโอสั้น http://bit.ly/crc30th เพื่อสร้างความตระหนักในสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนต่อประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา พร้อมกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น และสนับสนุนให้พวกเขาร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ย่อท้อต่อภารกิจต่าง ๆ ที่ตั้งใจทำ

นายปีเตอร์ โฟรเบล รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “นี่คือโอกาสสำคัญที่เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพที่สุด และไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตอนนี้เด็ก ๆ และเยาวชนทั่วโลกต่างกำลังลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา เราจะเห็นการเรียกร้องให้การปรับปรุงระบบการศึกษา การรณรงค์ให้ยุติการเลือกปฏิบัติ การรณรงค์ยุติความรุนแรงในโรงเรียน การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปทางดิจิทัลและเรียกร้องให้ผู้นำใส่ใจในอนาคตของพวกเขา ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนและทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของพวกเขา”

รายงานฉบับนี้ยังเผยให้เห็นอุปสรรคทั้งเก่าและใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็ก ๆ ทั่วโลก เช่น ความยากจน การเลือกปฏิบัติ การถูกแบ่งแยก สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการกลับมาระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเช่น โรคหัดเยอรมัน นอกจากนี้ จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนและผลการเรียนรู้ในโรงเรียนยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข

เพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รายงานฉบับนี้เสนอว่า ควรมีการจัดทำข้อมูล สถิติและการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งยังควรเพิ่มทรัพยากร และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการเพื่อแก้ปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ การวางแผนการทำงานยังควรยึดหลักการพื้นฐานของความเท่าเทียม พร้อมกับเสาะหาวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการกับอุปสรรค และเตรียมพร้อมสู่โอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยยึดหลักการของสิทธิเด็กเป็นสำคัญ

ยูนิเซฟจะจัดการประชุมระดับโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพื่อกำหนดแนวทางที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่ระบุอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเกิดขึ้นจริงสำหรับเด็กทุกคน โดยการประชุมนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง หน่วยงานการศึกษา นักพัฒนาสังคมและชุมชน ภาคการเมือง ภาคประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชน ที่จะกลายมาเป็นกระบวนการสำคัญในการทำงานขององค์กรในอนาคตต่อไป

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://uni.cf/CRC-media

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.unicef.org/child-rights-convention
« Last Edit: November 19, 2019, 08:06:06 AM by MSN »