MSN on November 06, 2019, 01:07:20 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์: CAC จับมือ UNDP ทำ survey ใหญ่ให้ภาคเอกชนชี้จุดเสี่ยงคอร์รัปชัน พร้อมศึกษาทางแก้และนำเสนอต่อภาครัฐ

4 พฤศจิกายน 2562 - นายพนา รัตนบรรณางกูร ผู้อำนวยการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า CAC ได้ร่วมมือกับ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือ UNDP) จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจเอกชนครั้งใหญ่ ที่จะครอบคลุมทุกสาขาธุรกิจเพื่อให้ทราบว่าบริการภาครัฐใดเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาคอร์รัปชันและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจมากที่สุด จากนั้น CAC และ UNDP จะศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของบริการนั้น ๆ ในต่างประเทศเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อภาครัฐ  ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

“การทำแบบสำรวจนี้ไม่ใช่แค่การชี้เป้าจุดที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ภาคธุรกิจเอกชนพบและต้องการให้รัฐเร่งหาทางแก้ไขเท่านั้น แต่เรายังจะใช้เครือข่ายระดับโลก และความเชี่ยวชาญของ UNDP ในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้ผลในต่างประเทศมาแล้ว เพื่อจัดทำข้อเสนอที่สามารถปฏิบัติได้จริงในบริบทของประเทศไทยให้แก่ภาครัฐด้วย”  นายพนา กล่าว และเสริมว่า “เราหวังว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนี้จะนำไปสู่การร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนไทยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม และจับต้องได้จริง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคของภาคธุรกิจ และส่งผลให้คะแนนของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ อย่างเช่น Ease of Doing Business หรือ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ดีขึ้นด้วย”

เพื่อให้การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้สะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจไทยทุกกลุ่ม นอกจากเครือข่ายของบริษัทที่มาร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC จำนวน 941 บริษัทแล้ว ยังจะขอความร่วมมือจากแปดองค์กรร่วมก่อตั้ง CAC ซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงหอการค้ากลุ่มประเทศนอร์ดิคที่เป็นพันธมิตรกับ CAC ซึ่งได้แก่ หอการค้าเดนมาร์ค-ไทย, หอการค้าไทย-ฟินแลนด์, หอการค้าไทย-นอรเวย์ และ หอการค้าไทย-สวีเดน ให้ช่วยกระจายแบบสำรวจไปให้บริษัทสมาชิกของแต่ละองค์กรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ CAC จะเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง พฤศจิกายน 2562จากนั้นสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (TMRS) จะนำผลข้อมูลที่เก็บได้ไปวิเคราะห์ในเชิงสถิติเพื่อประเมินว่าบริการภาครัฐใดที่เป็นอุปสรรคกับภาคเอกชนมากที่สุด เมื่อได้ผลการวิเคราะห์แล้ว ทาง UNDP และ CAC จะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ เพื่อนำปัญหาที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ไปศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐดังกล่าวที่ใช้ได้ผลในต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาล โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอผลสำรวจความคิดเห็น และข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อสาธารณะได้ภายในมีนาคม 2563

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ CAC และรายชื่อบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้ที่ 
http://www.thai-cac.com

Background
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ซึ่งเน้นในส่วนของภาคประชาสังคม

โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
พิษณุ พรหมจรรยา  ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์
แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)/สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) 
โทร: 081 929 4776  E-mail: phisanu@thai-iod.com