MSN on November 02, 2019, 02:23:49 PM


สายการบินพีชประกาศการควบรวมกิจการกับวานิลลาแอร์อย่างสมบูรณ์มุ่งส่งมอบคุณค่าใหม่ๆ และเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดของเอเชีย

•   "พีช" จะเป็นชื่อทางการค้าหลังการควบรวมกิจการ

•   วานิลลาแอร์ได้หยุดให้บริการการบินแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562

•   พนักงานของวานิลลาแอร์จะถูกโอนย้ายไปทำงานที่พีช และจะถือว่าพีชเริ่มทำธุรกิจในนามของบริษัทใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562

 
วันนี้ บริษัท พีช เอวิเอชั่น จำกัด (หรือ "พีช" ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเซ็นนัง จังหวัดโอซาก้า มีกรรมการตัวแทนและประธานบริหารคือนายชินอิชิ อิโนะอุเอะ) ได้ควบรวมกิจการกับวานิลลาแอร์ อินคอร์ปอเรชั่น (หรือ "วานิลลาแอร์” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองนาริตะ จังหวัดชิบะ มีกรรมการตัวแทนคือนายชินอิชิ อิโนะอุเอะ) เรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้ วานิลลาแอร์ได้หยุดการดำเนินธุรกิจและควบรวมกับพีชอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562 โดยพีชและวานิลลาแอร์ได้เตรียมการควบรวมกิจการมาตั้งแต่มีการประกาศไปในเดือนมีนาคม 2561 ขณะนี้พนักงานของวานิลลาแอร์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำงานจนถึงวันสิ้นสุดการดำเนินงาน และผู้ที่ได้เริ่มทำงานให้กับพีชแล้วบางส่วน ได้ถูกโอนย้ายไปทำงานที่พีชแล้ว*1 และพีชจะดำเนินงานในฐานะบริษัทใหม่ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
 
หลังการควบรวมกิจการ พีชจะกลายเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในญี่ปุ่นและเป็นสายการบินราคาประหยัดรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น*2 โดยพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละปี ทั้งนี้พีชยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง และจะดำเนินการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และก้าวขึ้นเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดในเอเชียที่ส่งมอบคุณค่าใหม่ๆ ให้กับผู้คนทั้งในญี่ปุ่นและทั่วเอเชีย

ที่ผ่านมา พีชถือเป็นสายการบินราคาประหยัดชั้นแนวหน้าในประเทศญี่ปุ่นที่รักษาคุณภาพบริการด้านการบินไว้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ส่วนวานิลลาแอร์ก็มีการขยายเครือข่ายการบินโดยมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในกรุงโตเกียว ดังนั้นการควบรวมกิจการระหว่างพีชและวานิลลาแอร์จึงเป็นการผสานความแข็งแกร่งของทั้งสองสายการบิน และช่วยให้พีชมีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันไม่เพียงเฉพาะในญี่ปุ่น แต่ครอบคลุมทั้งตลาดเอเชีย หลังการควบรวม พีชจะยังคงให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ของทั้งวานิลลาแอร์และของตนเองไว้ โดยเป้าหมายของบริษัทคือการเป็นสายการบินราคาประหยัดชั้นแนวหน้าในทวีปเอเชียที่มีการเติบโตและสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับสังคม

สรุปรายละเอียดของบริษัทฯ หลังการควบรวมกิจการ (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562) 
•   ชื่อ: บริษัท พีช เอวิเอชั่น จำกัด
•   กรรมการตัวแทนและประธานบริหาร: นายชินอิชิ อิโนะอุเอะ
•   จำนวนพนักงาน: 1,649 คน (ไม่รวมพนักงานชั่วคราวและพนักงานที่โอนย้าย) 
•   จำนวนเส้นทางการบิน: 19 เส้นทางสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 18 เส้นทางสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ (รวมแล้ว 37 เส้นทาง)*3
•   จำนวนของเมืองที่ให้บริการ: 14 เมืองในประเทศญี่ปุ่น และ 7 เมืองในต่างประเทศ 
•   จำนวนและชนิดของเครื่องบินที่ใช้: 28 ลำ  รุ่น A320-200*4
 
<ข้อมูลจากผลประกอบการของพีชและวานิลลาแอร์ในปีงบประมาณ 2561>
จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการต่อปี: ประมาณ 8,150,000 คน*5

หมายเหตุ
*1 ไม่รวมพนักงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการยกเลิกการดำเนินงานของวานิลลาแอร์
*2 พิจารณาตามจำนวนทั้งหมดของผู้โดยสาร (ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ) ที่ใช้บริการพีชและวานิลลาแอร์ในปีงบประมาณ 2561
*3 พีชจะให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ 21 เส้นทางและเที่ยวบินระหว่างประเทศ 19 เส้นทาง รวมแล้ว 40 เส้นทางก่อนสิ้นปีนี้ โดยจะเริ่มจาก 3 เส้นทางที่วานิลลาแอร์เคยเป็นผู้ให้บริการ ได้แก่ ไต้หวัน (เถาหยวน) - ฟุกุโอกะ, โตเกียว (นาริตะ) - อิชิกากิ และโอซาก้า (คันไซ) - อะมะมิ 
*4 พีชจะปรับปรุงเครื่องบินของวานิลลาแอร์จำนวน 12 ลำ จาก 15 ลำ และนำไปใช้ให้บริการ (เครื่องบิน 3 ลำจากจำนวนดังกล่าวถูกนำมาให้บริการในนามของพีชแล้ว)
*5 จำนวนของผู้โดยสารที่ใช้บริการพีชและวานิลลาแอร์ในปีงบประมาณ 2561 (ประมาณการของพีชอยู่ที่ 5,517,000 คน และประมาณการของวานิลลาแอร์อยู่ที่ 2,635,000 คน)
 
ข้อมูลเกี่ยวกับพีช (www.flypeach.com)
พีชเริ่มให้บริการที่ท่าอากาศยานคันไซในเดือนมีนาคม 2555 ปัจจุบัน นอกเหนือจากท่าอากาศยานคันไซแล้ว พีชยังมีฐานการบินที่ท่าอากาศยานชิโตเซะแห่งใหม่ ท่าอากาศยานเซนได ท่าอากาศยานนาริตะ และท่าอากาศยานนาฮา โดยมีเครื่องบินจำนวน 28 ลำ  ซึ่งให้บริการเที่ยวบินในประเทศ 19 เส้นทาง และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 18 เส้นทาง มีเที่ยวบินให้บริการประมาณ 130 เที่ยวบินต่อวัน และให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 19,000 คน ต่อวัน การควบรวมกิจการกับวานิลลาแอร์ ซึ่งมีฐานการบินอยู่ที่ท่าอากาศยานนาริตะ ได้ดำเนินการจนเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้