MSN on October 13, 2019, 05:15:25 PM


พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) พร้อมดาราดัง บิณฑ์-ท็อป ดารณีนุชแนะ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ชวนคนไทยไม่พึ่งเขี้ยวงา

กรุงเทพมหานคร, วันที่7 ตุลาคม 2562 –  องค์กรไวล์ดเอด (WildAid)และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) เปิดตัวโครงการรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ไม่พึ่งเขี้ยวงาพร้อมวิดีโอตัวใหม่ ที่มีพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษมูลนิธิร่วมกตัญญู และคุณท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน พิธีกรและนักแสดง เป็นทูตโครงการเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ซื้อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอย่างซากเสือโคร่งและงาช้าง เชื่อมั่นในผลของการกระทำของตนเอง แทนการพึ่งพาสิ่งที่มาจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ป่าเพื่อความโชคดี หรือการปกป้องคุ้มครอง โดยโครงการรณรงค์ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“สิ่งที่เกิดจากการเข่นฆ่ามั่นใจหรือว่าจะเป็นมงคลพระพุทธเจ้าบอกว่า จงเชื่อมั่นในการกระทำของตัวเอง ทำดีตอนไหน ตอนนั้นเป็นสิริมงคล เราทำดีวันไหน วันนั้นก็เป็นวันที่ดี ตามหลักชาวพุทธ มงคลในชีวิตขึ้นอยู่กับมันสมองและสองมือของเราเอง พุทธคุณไม่มีทางที่จะไปอยู่ในเครื่องรางของขลังที่มาจากสิงห์สาราสัตว์ได้เลย เพราะพระพุทธคุณหมายถึงปัญญา ความบริสุทธิ์ และความเมตตาอาทร”พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย และทูตโครงการ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’กล่าว

โครงการรณรงค์ 'ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความต้องการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่งและงาช้าง ในกลุ่มผู้ใช้และผู้มีความต้องการซื้อที่มีความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะ “นำความโชคดี” หรือ “มีพลังปกป้องคุ้มครอง”  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโครงการรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า”

ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย โดยโครงการUSAID Wildlife Asia ปี พ.ศ. 2561 พบว่า คนไทยในเขตเมือง ร้อยละ 2 หรือราว 500,000คนมีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และ ร้อยละ 1 หรือราว 250,000คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง นอกจากนี้ร้อยละ 3 หรือราว 750,000คน มีความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในอนาคต และร้อยละ 10(ราว 2.5  ล้านคน)มองว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้าง ยังเป็นที่ยอมรับในสังคม ในขณะที่ร้อยละ 7 (ราว 1.8 ล้านคน) เห็นว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้  โดยเหตุผลหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่างาช้าง "นำความโชคดีมาให้" "ป้องกันอันตราย" หรือ "มีความศักดิ์สิทธิ์” ส่วนผู้ซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากเสือมีแรงจูงใจหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่า "ป้องกันอันตราย/มีพลังปกป้องคุ้มครอง" หรือ "มีความศักดิ์สิทธิ์"

“ในอดีต ผมเคยใช้ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถปกป้องเรา หางาน หาเงินให้เรา แต่แม้มีสิ่งเหล่านี้ติดตัวก็ไม่ได้ช่วยอะไรและพบว่ามันอยู่ที่ตัวเราต่างหาก ทุกวันนี้สิ่งที่ผมเชื่อก็คือ หากเราคิดดี ทำดี ความดีก็จะสามารถปกป้องตัวเราได้ สิ่งที่ผมกราบไหว้ก็คือพ่อแม่ที่บ้าน การช่วยเหลือคน การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ ผมว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด”คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มูลนิธิร่วมกตัญญูและทูตโครงการ กล่าว

วิดีโอรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ความยาว 60วินาทีดำเนินเรื่องด้วยทูตโครงการทั้ง 3 ท่าน ที่ตั้งคำถามกับผู้ชม และผู้นิยมผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคลที่ทำจากซากสัตว์ป่า ว่าทำไมต้องพรากหรือเบียดเบียนชีวิตอื่น เพื่อให้ตนมีชีวิตที่ดี และปิดท้ายด้วยข้อคิดจากท่าน ว. วชิรเมธี พระนักคิด-นักเขียนชื่อดังว่า“สิ่งที่เกิดจากการเข่นฆ่า มั่นใจหรือว่าจะเป็นมงคล”เพราะความมงคลในชีวิตเกิดจากการทำดีเท่านั้น

คุณท็อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน พิธีกร นักแสดงชื่อดัง และทูตโครงการอีกท่าน มองว่า “สิ่งของที่คิดว่ามีค่า แต่มาจากสัตว์ที่ถูกฆ่านั้น ไม่อาจช่วยให้เรามีชีวิตที่ดี การซื้อเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ก็มีส่วนกระตุ้นให้ช้างและเสือในธรรมชาติตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่า เราจึงต้องหยุดยั้งความต้องการในตลาด เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า ความก้าวหน้า ความสำเร็จในหน้าที่การงาน มันเริ่มจากการลงมือปฏิบัติสิ่งที่จะสร้างมงคลให้กับชีวิต ก็คือตัวเราเท่านั้น”

ทุกปี มีช้างมากกว่า 20,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อเอางาในแอฟริกา เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างในเอเชีย ขณะที่เสือโคร่งที่เหลืออยู่ในป่าทั่วโลกมีจำนวนน้อยกว่า 4,000 ตัว แต่พวกมันตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่าเพื่อเขี้ยว หนังและกระดูก มีการประเมินว่าอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าทั่วโลกมีมูลค่าราว 150,000-700,000ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์ป่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ต้องพึ่งพาสัตว์ป่า และบั่นทอนสเถียรภาพทางสังคมและการเมือง

“ความสูญเสียที่เกิดจากการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนช่วยหยุดยั้งได้ และนี่คือภารกิจขององค์กรไวล์ดเอดที่จะต้องเดินหน้ารณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนใช้ชีวิตในแบบที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับสัตว์ป่า และธรรมชาติความเชื่อที่มีมานานในสังคมไทย อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าในปัจจุบัน เราเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคมหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนรวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” จะเป็นวิถีใหม่ ที่การใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่ง และงาช้าง จะไม่เป็นที่ยอมรับดังเช่นที่ผ่านมา” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

คนไทยจำนวนหนึ่งอาจเชื่อว่า เครื่องรางของขลังที่ทำมาจากงาช้างบ้าน ไม่ได้ทำลายชีวิตช้าง แต่จากการประเมินของ USAID Wildlife Asia งาจากจำนวนช้างบ้านที่มีอยู่ ไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้กับการลักลอบนำเข้างาช้างจากประเทศอื่น โดยการประเมินดังกล่าวอ้างอิงมาจากรายงานการสำรวจตลาดค้างาช้างของ TRAFFIC ที่จัดทำในปี พ.ศ. 2557 ในประเทศไทยซึ่งพบว่า มีช้างบ้านเพศผู้ราว 1,230 ตัว คิดเป็นปริมาณงาช้างที่ผลิตได้ประมาณ 650 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้น ตราบใดที่ยังมีความต้องการเครื่องรางของขลังจากผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า ประชากรช้างและเสือโคร่งในป่าก็จะยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่า

“ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเฝ้าระวังการค้างาช้างผิดกฎหมายต่อไปแม้ไทยไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายแล้วและจะดำเนินมาตรการเสือในกรงเลี้ยงอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการค้าเสือและผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายตามที่ได้รายงานต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากรมอุทยานฯ เชื่อว่า การแก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดฎหมายที่ได้ผล ต้องเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการลดความต้องการของผู้บริโภค ความร่วมมือระหว่างองค์กรไวล์ดเอด

โครงการยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย และกรมอุทยานฯ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องประชากรช้างและเสือของโลกอย่างต่อเนื่อง” นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกอง กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว

นายปีเตอร์ เอ. มัลนัค ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “เราหวังว่า การได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดในสังคมไทย จะทำให้โครงการรณรงค์ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ สามารถลดทอนความเชื่อที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างเสือโคร่งและงาช้างในกลุ่มผู้ใช้และผู้มีความต้องการซื้อ และทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนในอดีต”

วิดีโอรณรงค์  “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” เริ่มเผยแพร่แล้วทางสื่อออนไลน์ และอีกหลากหลายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และคนทั่วไปมากที่สุด

ดาวน์โหลดโฆษณารณรงค์ ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า: https://bit.ly/2oJggvu
ดาวน์โหลดโฆษณารณรงค์และรูปเพื่อประกอบข่าว:https://bit.ly/2pzMdql
ดาวน์โหลดผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย โดย USAID Wildlife Asia:
ภาษาอังกฤษ: https://bit.ly/2kEBKb9, ภาษาไทย:https://bit.ly/2manGGP

เกี่ยวกับ ไวล์ดเอด
องค์กรไวล์ดเอด (www.wildaid.org) คือองค์กรไม่แสวงผลกำไรมีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฎมายเราเน้นไปที่การรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคและความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า เช่น งาช้าง หูฉลาม นอแรด โดยสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคและโน้มน้าวให้ พวกเขาเปลี่ยนทัศนคติและเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ไวล์ดเอดทำงานรณรงค์ที่ทวีปเอเชียเป็นหลัก ในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง คือจีน ฮ่องกง เวียดนาม และไทย เราได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลากหลายสาขา กว่า 100คนเช่น เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์, เหยา หมิง, ลูพิตา ยองโก, จา พนม ยีรัมย์ ร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสโลแกน หลักขององค์กร “When the Buying Stops, the Killing Can Too. - หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า”ข้อมูลเพิ่มเติม และชมโฆษณารณรงค์คลิก : www.wildaid.org

เกี่ยวกับโครงการยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย
องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชียดำเนินโครงการ USAID Wildlife Asiaเพื่อชี้ให้เห็นว่า การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายคืออาชญากรรมข้ามชาติโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ป่า พัฒนาทักษะด้านการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนานโยบาย ข้อกำหนด หลักกฎหมาย และส่งเสริมความร่วมมือ ระดับภูมิภาคเพื่อลดอาชญากรรมสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ไทย เวียดนาม และประเทศจีน ชนิดพันธุ์หลักที่โครงการเน้น ได้แก่ งาช้าง นอแรด เสือและตัวนิ่ม ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้จาก www.usaidwildlifeasia.org
« Last Edit: October 13, 2019, 05:19:05 PM by MSN »