happy on October 07, 2019, 06:36:25 PM
กทปส. สานต่อโครงการต้นแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล หวังเชื่อมโยงเครือข่าย รพ. ทั่วประเทศ
ใช้เทคโนโลยี ยกระดับการรักษา ลดความเหลื่อมล้ำ


                    กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าสนับสนุนพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง มอบทุนต่อเนื่องให้แก่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่ 2) หวังเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาล  ศูนย์แพทย์ฯ ในจังหวัดพิษณุโลกแบบครบวงจร เพื่อยกระดับการรักษาและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทางการแพทย์ในประเทศไทย


                    นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า จากปัญหาของระบบการแพทย์ของประเทศไทย ด้านการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอและแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่งผลให้แพทย์ไม่เพียงพอและรองรับกับจำนวนผู้ป่วยในเขตพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นถึงปัญหาและปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการมอบทุนเพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูง ศักยภาพของเทคโนโลยีไร้สาย สร้างจุดแข็งในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกล และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลาแบบ real time


                    สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง โดยมหาวิทยานเรศวรได้รับมอบทุนสนับสนุนจาก กทปส. มีลักษณะคล้าย Tele Health รูปแบบครบวงจรมีแพทย์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยและพยาบาล ผ่านแอพพลิเคชั่นเชื่อมต่อสำหรับแพทย์ โครงการดังกล่าวได้รับทุนครั้งแรกเมื่อปี 2557 ทำเป็นโครงการต้นแบบทดลองทั้งสิ้น 4 - 5 โรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล รวมทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบเทคโนโลยีดิจิทัลความสูงจะเชื่อมต่อภาพจากการรักษาให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษาผ่านระบบเชื่อมโยงด้านโทรคมนาคมเข้าสู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือทำการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทาง ทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทุกพื้นที่ในประเทศ และเกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา ลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน โดยการนำเอาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมดิจิทัลความสูงมาพัฒนาร่วมกับระบบทางการแพทย์ ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและประชาชนในประเทศอีกด้วย

                    “ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ยื่นขอทุนต่อเนื่องเพื่อขยายโครงการต่อในปี 2561 ในโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่ 2) เพื่อจะเชื่อมโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด เป็นสิ่งที่ กทปส. เห็นถึงความสำเร็จของโครงการและการดำเนินการที่เห็นภาพประโยชน์ในการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล  สาธารณะสุขทั้งจังหวัด สถานีอนามัย และบุคลากรอย่างแพทย์ พยาบาล สู่การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าในอีก 2 ปีจะมีการขยายเพิ่ม ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงสาธารณะสุขจะมารับช่วงต่อไปขยายผลในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป อนาคตปี 2564 การขยายต่อยอดโครงการจะเป็นในส่วนของนโยบายทางกระทรวง หากแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวสำเร็จ กทปส. เชื่อว่าจะช่วยให้การรักษาโรคที่ไม่ได้รุนแรงทำได้รวดเร็วขึ้นมากยิ่งขึ้น” นายนิพนธ์ จงวิชิต กล่าว


                    ทางด้าน ศ.ดร.ไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง ถือได้ว่าเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล กับโรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงบาลใหญ่ในพื้นที่เขตเมือง หรือ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้ทำการทดลองวางระบบและเชื่อมต่อการทำงานเข้ากับโรงยาบาลภายใต้การทำงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 8 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์อีก 2 แห่ง รวมแล้ว 10 โรงพยาบาล โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และนำโจทย์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ ซึ่งจากปัญหาที่ได้ทำการศึกษา คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้อยู่กับที่ มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรอได้ต้องการการรักษาอย่างทันที ดังนั้น ระบบแพทย์ทางไกลที่ดีตอบโจทย์ คือ ระบบโทรศัพท์ทางไกล หรือที่เรียกว่า Mobile Application บนสมาร์ทโฟนที่สามารถให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมต่อ สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ และเชื่อมกับระบบประมาณ 289 แห่ง จากในระยะแรกมี 13 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 157 แห่ง  และโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 132 แห่ง

                    สำหรับระบบแพทย์ทางไกลเริ่มต้นได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาด้านการสื่อสาร การใช้และแก้ไขด้วยระบบเทคโนโลยี การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะสมทุกช่วงเวลา และพฤติกรรมส่วนใหญ่ของแพทย์ที่พร้อมให้คำปรึกษาแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน ดังนั้น การผลักดันระบบแพทย์ทางไกลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่าน Mobile Application บนสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบันและในอนาคตที่มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าวได้ทำการศึกษาและให้ความสำคัญมีดังนี้ 1.ศูนย์ข้อมูล(Data Center) ระบบสัญญาณภาพ เสียง ความคมชัดและเป็นปัจจุบัน อาทิ การรักษาการอ่านภาพระบบ DICOM (Digital Imaging and Communications in Medicine) ของผู้ป่วยในลักษณะดิจิทัล โดยสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างการรักษาได้ 2.การให้คำปรึกษา(Consultant) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้สมาร์ทโฟนหรือ แท็บเล็ต ผ่านการสื่อสารด้วย VDO Call อาจเป็นเคสการผ่าตัด หรือ กรณีผิดปกติทางร่างกาย การตรวจครรภ์ทางไกล ด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ทำให้อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้รับคำปรึกษา (พยาบาล) และผู้ให้คำปรึกษา (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) แบบทันทีทันใด เปรียบเสมือนอยู่ในสถานที่เดียวกัน 3. E-Learning การสื่อสารผ่านระบบมัลติมีเดียสามารถถ่ายทอดเรื่องราวและเนื้อหาทางการรักษา ซึ่งนักเรียนแพทย์สามารถสื่อสารกับแพทย์ที่กำลังทำการรักษาผู้ป่วยได้ และสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาหรือตัวอย่างโรคในครั้งต่อไป








                    ในส่วนของระบบการทำงานของโครงการฯ ได้พัฒนาและขยายผลจากโครงการระยะที่ 1 ถึง โครงการระยะที่ 2 โดยผ่านแอปพลิเคชัน NUMED ซึ่งมีการพัฒนาฟังก์ชันการเชื่อมต่อการเซอร์วิสบนแอปพลิเคชันในการจัดตารางเวรเพื่อให้คำปรึกษา ให้ฟังก์ชันสามารถสนทนา (Chat) ที่สามารถส่งข้อมูลภาพและวีดิโอแบบกลุ่มได้ รวมถึงการพัฒนาฟังก์ชันการค้นหาข้อมูลผู้ป่วยบนแอปพลิเคชันด้วยการป้อนรหัส 13 หลัก โดยได้พัฒนาระบบการปรึกษาแบบแยกตามกลุ่มความเชี่ยวชาญของแพทย์ นอกจากนี้ในส่วนฟังก์ชันการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้คำปรึกษาโดยไม่ต้องเปิดเคส ระบบได้ทำการจัดเก็บ (backup data) และบริหารจัดการข้อมูล จากระบบศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์มายังเซิร์ฟเวอร์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้สามารถใช้ข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาโดยการสร้างระบบบ Web Admin สำหรับดูแลและจัดการผู้ใช้งานให้กับโรงพยาบาลต้นสังกัดเป็นผู้ดูแล เป็นต้น 

                    นอกจากนี้ยังเชื่อมการทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน PCC Team ของ อสม อาทิเช่น ระบบการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของคนในชุมชนผ่านเทคโนโลยี Face ID และระบบการรายงานเหตุการณ์แบบทันท่วงที (Real-time) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถแยกหมวดข้อมูลตามกลุ่ม ประกอบด้วย เด็กแรกเกิด ผู้ป่วยติดเตียง พื้นที่เสี่ยงและอื่นๆ รวมทั้งระบบสนทนาออนไลน์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลประวัติการการติดตามคนป่วยเพื่อการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  และยังมีสามารถให้การปรึกษาผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ตและเทคโน AR อาทิเช่น ระบบเทคโนโลยีเสมือนจริงด้านการผ่านตัดให้การรักษาได้ทุกพื้นที่ และยังมีฟังก์ชันอ่านฟิล์มเอ็กเรย์บนแท็บเล็ต รวมทั้งยังได้พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาผ่านเทคโนโลยีโฮโลแกรมด้วยแว่นแสดงภาพเสมือนจริง นับว่าได้นำเทคโนฯ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการแพทย์ของประเทศไทยอย่างมาก

                    ทั้งนี้แผนการพัฒนาโครงการในอนาคตเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ หากระบบแพทย์ทางไกลได้รับการส่งเสริมพัฒนาได้ครอบคลุมทั่วประเทศจะสามารถลดปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ งบประมาณ ช่องว่างทางการรักษาได้  ซึ่งเทคโนโลยีเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการแพทย์ ในอนาคตหากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการสื่อสารอาจช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านสื่อสารกับแพทย์ได้โดยตรง แพทย์ที่เกษียณอายุอาจใช้ความรู้ความสามารถรักษาผู้ป่วยผ่านเครื่องมือการสื่อสาร หรืออาจเกิดคลินิกออนไลน์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสื่อสารกับผู้ป่วย พิมพ์เอกสารสั่งยาผ่าน application บนสมาร์ทโฟน ซึ่งภาพวันนี้เกิดขึ้นแล้วแต่ที่จะต้องต่อยอดก็คือการเชื่อมโยงระบบให้ครอบคลุม