news on October 06, 2019, 11:23:23 AM
กสอ. คืนความสุข SMEs เปิดคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ ขานรับ 7 มาตรการ กระทรวงอุตฯ “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยผู้ประสบอุทกภัย 4 จังหวัดภาคอีสาน





















จังหวัดอุบลราชธานี 4 ตุลาคม 2562 – นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เปิดคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ ขานรับ 7 มาตรการ ของกระทรวงอุตสาหกรรม “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยผู้ประสบอุทกภัย 4 จังหวัดภาคอีสาน พร้อมเยียวยาผู้ประกอบการ 190 ราย ในโครงการคืนความสุข SMEs ซ่อมเครื่องจักรโรงงาน ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า เปลี่ยนน้ำมันเครื่องฟรี และดำเนินการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยผู้ประกอบการที่กู้เงินในโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย จำนวน 30 ราย มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับมอบนโยบายและขับเคลื่อนตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย 7 มาตรการ “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน เอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจ โดยได้จัดทำโครงการคืนความสุข SMEs (SMEs Happy Work and Happy Life) ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน 7 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูสถานประกอบการเอสเอ็มอี โดยการจัดกิจกรรม Big Cleaning เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้แก่สถานประกอบการ กิจกรรม Maintenances ซ่อมแซม ปรับปรุง ฟื้นฟู อุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กิจกรรม Renovate (ปรับปรุง) ฟื้นฟูอาคาร สถานประกอบการ และระบบสาธารณูปโภค ขณะที่วิสาหกิจชุมชน มีการจัดกิจกรรมปรับปรุงฟื้นฟูผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตให้กลับมาผลิตและจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ ซึ่งเน้น  Design & Product  Renovate การออกแบบ บรรจุภัณฑ์ ฉลากสินค้า หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ การแปรรูป โดยเชื่อมโยงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อผลักดันและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริการของรัฐอื่น ๆ เช่น โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้รับการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้รายใหม่ จำนวน 30 ราย รวมจำนวนวงเงินกู้กว่า 12 ล้านบาท

“กสอ. มีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องผู้ประกอบการและประชาชนผู้ประสบภัยทุกคน โดยจากการสำรวจข้อมูลความเสียหาย พบว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายทางตรง จำนวน 190 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ซึ่งนอกจากการเข้าไปช่วยเหลือสถานประกอบการตามโครงการคืนความสุข SMEs แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เปิดคลินิกอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยหลังน้ำลด จำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2562 ซึ่งตั้งจุดให้บริการ ณ วัดบ้านท่าบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 2 วันที่ 5 – 6 ตุลาคม 2562 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ครั้งที่ 3 วันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2562 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และครั้งที่ 4 วันที่ 7 – 8 ตุลาคม 2562 ณ ลานสาเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีการให้บริการคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเงินเกี่ยวกับการพักชำระหนี้ และการอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษจาก SME Bank การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร การฟื้นฟู ปรับปรุง ทำความสะอาดสถานประกอบการให้กลับมาดำเนินกิจการได้โดยเร็ว นอกจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปยังมีบริการตรวจเช็คสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงบริการตรวจเช็คและซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฟรี โดยหวังว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชนได้บ้าง พร้อมยืนยันว่ากระทรวงฯ จะดูแล ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติโดยเร็ววัน” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ คณะฯ ได้ลงพื้นที่ บริษัท ทูฟาร่า รีนิวอัล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวด้วย โดย นางสิริพร เคหารมย์ เจ้าของกิจการกล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ยาสีฟัน สบู่ และผลิตภัณฑ์สปา มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 90,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อบริษัทได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยน้ำได้ทะลักเข้าท่วมอาคารสถานประกอบการ วัตถุดิบในการผลิต เครื่องมือ / เครื่องจักร จมน้ำ ตู้โชว์สินค้า ก็ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย การขนส่งสินค้าถูกตัดขาด ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 1,500,000 บาท “หากต้องเริ่มผลิตสินค้าล็อตใหม่ คาดว่าต้องใช้ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งทาง กสอ. ได้เข้ามาช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ และช่วยทำความสะอาดสถานประกอบการ รวมถึงให้เข้าโครงการพักชำระหนี้ของโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยเป็นเวลา 4 เดือน อีกทั้งยังลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปีด้วย ทั้งนี้ ในตอนแรกไม่คิดว่ามูลค่าความเสียหายจะมากมายขนาดนี้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ได้แต่ทำใจยอมรับ และถือว่ายังโชคดีที่มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือดูแล ซึ่งทำให้มีกำลังใจและคลายความกังวลไปได้มาก” นางศิริพร กล่าว
« Last Edit: October 06, 2019, 11:26:25 AM by news »