MSN on September 30, 2019, 01:57:35 PM


ข่าวประชาสัมพันธ์ ไทยและเยอรมนี ร่วมทบทวนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทางรอดกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อม





กรุงเทพฯ กันยายน 2562 – องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดเวทีนานาชาติเรื่อง "เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเกิด ผ่านกระบวนการ 3R เริ่มที่ Reduce - ลดการใช้!” (“Reduce! Rethinking Circular Economy”) ที่เมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพฯ เพื่อทบทวนว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรและจะนำเอาประสบการณ์จากทั่วโลกและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อที่ 12 ที่ว่าด้วยเรื่อง “แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” มาปรับใช้อย่างไรให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม

ด้วยวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ผู้นำของแต่ละประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจในอนาคตของเราจะต้องดำเนินไปภายในขอบเขตที่ระบบธรรมชาติยังสามารถจัดการได้ และสิ่งมีชีวิตยังปลอดภัย ซึ่งเราทุกคนจำเป็นต้องทบทวนแนวคิดและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเริ่มที่ขั้นตอนแรกของ ‘3R’ นั่นคือ การลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) ดังนั้นเวทีนานาชาติครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเวทีให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้งานได้และที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การติดฉลากสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ นักคิดด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชนจากเอเชีย ละตินอเมริกา แอฟริกาและสหภาพยุโรป ได้มีโอกาสสำรวจเครื่องมือเชิงนโยบายที่อิงกับนวัตกรรมตลาดและได้ค้นพบรูปแบบธุรกิจเชิงดิจิทัลแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

นายไค โฮฟ์มัน ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วันนี้มีผู้แทน 160 คนจาก 17 ประเทศมาประชุมกันที่กรุงเทพฯเพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาต่อได้ แนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ แต่ยังรวมถึงการลดการใช้ทรัพยากร การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและเพิ่มอายุการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเศรษฐกิจเส้นตรงที่เน้นการ “ใช้ (ทรัพยากร) – ผลิต – ทิ้ง” ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมหาศาล”

“ลองนึกถึงอุตสาหกรรมเพลง สมัยก่อนเวลาเราจะฟังเพลง ก็ต้องมีซีดีพร้อมเครื่องเล่น แต่วันนี้ โลกเปลี่ยนไปมาก เราแค่ดึงเพลงทั้งหมดออกมาจากอินเทอร์เน็ต ก็ฟังเพลงได้แล้ว” นายไค กล่าวเสริม

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) และเป็นประเทศระดับแนวหน้าในการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประเทศไทยได้รวมนำแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนเข้ากับกรอบนโยบายระดับชาติต่างๆ  ในส่วนของแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2579 นั้น ได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษ และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งได้รวมถึงแผนและกลยุทธ์ระยะกลางและระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน การท่องเที่ยว การเกษตร การจัดซื้อจัดจ้าง แผนการพัฒนาฉลากสีเขียว และแผนที่นำทางสำหรับการจัดการขยะพลาสติก ในปีนี้ประเทศไทยและทุกประเทศในอาเซียนได้มี "ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน" ร่วมกัน เพื่อตอบสนองความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก”

“อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาระดับโลกที่มีความซับซ้อน ประเทศไทยไม่สามารถเอาชนะความท้าทายนี้ได้เพียงประเทศเดียว แต่ยังต้องการความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศแนวคิดหลัก คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” สำหรับการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องขยายความร่วมมือและเสริมความแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม ผ่านการรับฟัง การเรียนรู้ การเจรจาต่อรอง การประนีประนอม และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การมีเป้าหมายร่วมกัน” นายสุพจน์ กล่าวเสริม

นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเยอรมนีถือเป็นหนึ่งใน 77 ประเทศทั่วโลกที่ให้คำมั่นในการตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ ภายในปีพ.ศ. 2593 และเพิ่งได้นำแผนงานการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมาปรับใช้ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศเยอรมนีชูนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเสริมศักยภาพการตลาด เราเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเยอรมนีก็ได้พัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อม “Blue Angel” ขึ้นเป็นประเทศแรกในโลกเมื่อปีพ.ศ.2513 ด้วย”

“อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เราทุกคนจึงต้องหันมาเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวคิดเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากการเปลี่ยนการ “ใช้ (ทรัพยากร) – ผลิต – ทิ้ง” มาเป็นการใช้ทรัพยากรที่จำกัดด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การใช้ช้ำและการแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่”

“ประเทศเยอรมนีเป็นพันธมิตรด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เยอรมนีแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศไทยในเรื่องพลังงานทดแทน การใช้ทรัพยากรอย่างประสิทธิภาพและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้คำแนะนำด้านนโยบายสำหรับการดำเนินงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินโครงการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น การจัดการของเสีย การดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วม หรือแม้แต่เรื่องการสนับสนุนการผลิตตู้เย็นที่ประหยัดพลังงาน โดยรวมแล้วรัฐบาลเยอรมันลงทุนไปกับการดำเนินโครงการระดับทวิภาคีในประเทศไทยแล้วจำนวน 60 ล้านยูโร (ราวสองพันล้านบาท) ตั้งแต่ปีพ.ศ 2551 และยินดีที่จะร่วมมือดำเนินต่อไปในอนาคต นอกจากนี้เยอรมนียังสนับสนุนประเทศในเอเชียทั้งเก้าประเทศ สองประเทศในละตินอเมริกา และสองประเทศในแอฟริกาในการดำเนินงานตามพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้า SDG ข้อที่ 12 เรื่องการสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย” นายเกออร์ก กล่าวเสริม

เวทีนานาชาติเรื่อง "เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเกิด ผ่านกระบวนการ 3R เริ่มที่ Reduce - ลดการใช้!” (“Reduce! Rethinking Circular Economy”) จัดขึ้นโดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU)

เกี่ยวกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
GIZ เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลกและองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลกและมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.giz.de

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
ปริยา วงศาโรจน์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
โทรศัพท์ 02 661 9273 ต่อ 165
มือถือ 092 241 4241
อีเมล์ pariya.wongsarot@giz.de