MSN on September 17, 2019, 01:36:06 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์ VRANDA คว้า GRAM Pancakes และ PABLO Cheesetart ร้านขนมหวานจากญี่ปุ่นร่วมพอร์ต

VRANDA ทุ่มงบลงทุน 110 ล้านบาท คว้าร้านดัง GRAM และ PABLO ร้านขนมหวานจากญี่ปุ่นร่วมพอร์ต ตั้งเป้าขยายสาขารวมเป็น 7-8 แห่ง ภายในสิ้นปี 63


นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA
เปิดเผยว่าบริษัทฯ  ใช้เงินจำนวน 110 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master Franchise Agreement) ของร้านคาเฟ่และขนมหวาน GRAM และ PABLO โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม พ.ศ.2562

ทั้งนี้ GRAM เป็นร้านคาเฟ่ & ขนมหวานที่มีชื่อเสียงด้านแพนเค้กมีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยเพิ่งจะเปิดตัวในไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 และได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจำจากนวนลูกค้าและการพูดถึงในโลก social media โดยปัจจุบันเปิดให้บริการที่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิร์ด สามเสน และล่าสุดที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดย VRANDA มีแผนที่จะขยายสาขา GRAM เพิ่มขึ้น รวมเป็น 7-8 สาขาภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ VRANDA ในการปักหมุด GRAM ลงบนพื้นที่ยอดนิยมต่างๆ ด้วยชื่อชั้นขนมหวานสายเลือดญี่ปุ่น ประเทศซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผู้คิดค้นขนมอันเป็นที่ชื่นชอบและถูกปากของนักชิมทั่วโลก การันตีได้จากความร้อนแรงหลังเปิดตัวในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GRAM นั้นไม่ได้เนื้อหอมเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบขนมหวานเพียงเท่านั้น ศูนย์การค้าต่างๆ เองก็ต้องการคว้า GRAM มาไว้เป็นแม่เหล็กช่วยดึงดูดเหล่านักช้อปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ดีลดังกล่าว VRANDA ยังได้ PABLO แบรนด์ขนมหวานจากญี่ปุ่นพ่วงมาด้วย โดยล่าสุดเพิ่งขยายสาขาใหม่ที่สนามบินดอนเมืองและได้รับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ส่งผลให้ VRANDA มีพอร์ตธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมซึ่งมีแบรนด์ “Skoop” และ “KOF” บริหารในมืออยู่แล้ว ซึ่ง GRAM และ PABLO จะช่วยเสริมศักยภาพการต่อรองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาพื้นที่เพื่อลงทุนขยายสาขา การทำโปรโมชั่นควบคู่กับแบรนด์อื่นๆ ตลอดจนการทำธุรกิจกับ online delivery platform และสิ่งที่จะทำให้เราเห็นภาพการเติบโตของ VRANDA ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือการเติบโตของรายได้ประจำ (recurring income) โดยผลจากการเข้าซื้อในครั้งนี้คาดการณ์ว่าจะทำให้รายได้ประจำของบริษัทฯ ในปี 2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 10 - 15% ซึ่งเป็นข้อดีของการซื้อกิจการที่มีรายได้อยู่แล้ว เพราะบริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการปลุกปั้นหรือใช้งบประมาณเพื่อโปรโมทแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อตีตลาด เป็นเหตุผลให้การคว้า GRAM มาในครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งการเติบโตของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ VRANDA อย่างก้าวกระโดดดังที่ได้เห็นจากตัวเลขการเติบโตของรายได้ประจำซึ่งกล่าวมาในขั้นต้นและด้วยฐานลูกค้าจาก GRAM และ PABLO ประกอบกับกลุยทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ VRANDA จะทำให้พวกเขาสามารถดึงเอาจุดเด่นที่มีความเข้าใจในธุรกิจไลฟ์สไตล์ มามอบประสบการณ์ที่แตกต่างและตรงกับความต้องการในกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้ เราคงจะไม่ได้เห็นแค่ยอดการเติบโตจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีส่วนช่วยเสริมธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทให้เติบโตขึ้นไปด้วยอย่างแน่นอน

นายวีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนสถาณการณ์ปัจจุบันของธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ VRANDA นั้น ทางบริษัทฯ ก็ได้เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วง High Season ปลายปี หลังได้รับสัญญาณที่ดีจากยอดจองเข้าพักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งผ่านจุดต่ำสุดของปีมาแล้ว