news on September 12, 2019, 08:06:28 AM
‘ชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนาม’ และ ‘แอปเรียนรู้อักษรสามหมู่ช่วยผันเสียงวรรณยุกต์’ นวัตกรรมสื่อการเรียน พร้อมถ่ายทอดจาก THAILAND TECH SHOW



ชุดสกัดเก่งหรือชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนาม พัฒนาโดยอาจารย์นักวิจัยจาก ม.พะเยา ผลงานพร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยลดต้นทุนการใช้ชุดสกัดดีเอ็นเอสำหรับรูปหรือชุดสกัดแบบคอลัมน์ ใช้งานง่าย และเสริมให้นักศึกษาวิทย์ได้ลงมือทดลองสกัดดีเอ็นเอได้ด้วยตนเองทุกคน และแอปพลิเคชันเรียนรู้อักษรสามหมู่ พัฒนาโดยอาจารย์นักวิจัยจาก ม.ราชภัฏยะลา เป็นมัลติมีเดียโมบายแอปพลิเคชันเพื่อเรียนรู้วิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องการผันอักษรสามหมู่ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ควรเร่งพัฒนาเพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้ เป็น 2 ผลงานตัวอย่างในกลุ่มนวัตกรรมสื่อการเรียน ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการ THAILAND TECH SHOW โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)



ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
กล่าวว่า การจัดงาน THAILAND TECH SHOW 2019 ปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนร่วมกันกว่า 40 หน่วยงาน มีผลงานมากกว่า 200 ผลงาน โดยในส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในงาน หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจและเหมาะสมสำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนที่ประยุกต์ใช้ได้กับเด็ก ๆ รวมถึงคนทุกวัย คือ นวัตกรรมสื่อการเรียน อย่างตัวที่ช่วยในเรื่องการเรียนรู้ เช่น แอปพลิเคชันเรียนรู้อักษรสามหมู่ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาพัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาของเด็กภาคใต้ในเรื่องการอ่านออกเสียงภาษาไทยที่อ่านได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการผันเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งการออกแบบแอปนี้ขึ้นมาจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น หรือแอปพลิเคชันเรียนรู้เลขาคณิต ม. 1 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเช่นกัน ซึ่งเลขาคณิตเป็นเรื่องยากของเด็ก ๆ เสมอ เพราะฉะนั้นการใช้แอปพลิเคชันจะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้และเข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมสื่อการเรียนอื่น ๆ เช่น ผลงานการ์ดเล่นเกมประสมคำภาษาอังกฤษสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงนวัตกรรม ผลงานหัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา โดยนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานพลาสติกสำหรับตรวจสอบงานเชื่อมด้วยสายตา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และผลงาน Grandma Grammar ที่แม้แต่อาม่าก็เข้าใจ โดยภาคเอกชน บริษัท ณฎา วีเคเอ็ม จำกัด 271 เป็นต้น

“อุตสาหกรรมที่พัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น สื่อการเรียนรู้ เป็นผลงานที่น่าสนใจ คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ในอนาคต จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.thailandtechshow.com/ เพื่อจะได้มีโอกาสนำเอานวัตกรรมสื่อการเรียนต่าง ๆ ที่สนใจไปต่อยอดทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตลาดน่าจะดีขึ้นในอนาคตได้” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว




ด้าน ดร.ธนพัฒน์ แพ่งเกษร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยว่า นวัตกรรม ‘ชุดสกัดเก่ง (ชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนาม)’ เป็นชุดสกัด DNA ภาคสนาม มีชื่อทางการค้าว่า “ชุดสกัดเก่ง” ทดแทนเครื่องสกัด DNA ในท้องตลาดที่ต้องอาศัยเครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูง จุดนี้ทำให้เป็นข้อจำกัดที่บางโรงเรียนหรือบางมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเครื่องนี้จะไม่สามารถสกัด DNA ได้ หรืออีกทางคือ แม้ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยจะมีเครื่องตัวนี้ แต่มีจำนวนน้อย เด็กก็จะไม่ได้ทำการทดลองกันทั้งห้องหรือทำทุกคน เพราะฉะนั้นเพื่อลดความยุ่งยากในการใช้เครื่องนี้ ให้เหลือแค่ตัวหลอดสกัด เรียกว่า สกัดเก่ง เพียงเติมตัวอย่างลงไปในหลอด แล้วเติมน้ำยาที่จะเข้าไปช่วยในการแตกเซลล์เรียกว่า น้ำยาแตกเก่ง จากนั้นทำการเขย่าหลอดไปมา ซึ่งช่วงนี้ DNA ที่อยู่ในนิวเคลียสและภายในเซลล์จะแตกออกเข้าสู่สารละลาย ถัดไปคือการเติมน้ำยาจับเก่ง เพื่อที่ว่า DNA ที่อยู่ในสารละลายจะถูกจับไปอยู่กับเม็ดบีทที่อยู่ในหลอดสกัดเก่ง ตามด้วยการดูดทุกอย่างที่เป็นส่วนเกินทิ้งไปจนเหลือเพียง DNA ที่เกาะอยู่บนเม็ดบีท และเพื่อให้แน่ใจจึงต้องใช้น้ำยาล้างเก่งในการชะล้างเอาส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป และขั้นสุดท้ายคือการล้วง DNA ออกมาด้วยน้ำยาล้วงเก่ง ทำให้ได้ DNA ที่สะอาด และเพียงพอสำหรับจะนำไปวิเคราะห์หรือทดลอง ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือ นักศึกษาจะได้ทดลองเรียนและทำเองทุกคน โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือชั้นสูง รวมถึงยังลดต้นทุนด้วย เพราะราคาขายชุดสกัดดีเอ็นเอสำเร็จรูปในท้องตลาดหรือชุดสกัดแบบคอลัมน์ ราคาจะอยู่ที่ 50-120 บาท ขณะที่ชุดสกัดเก่ง ราคาขายจะอยู่แค่ที่ 10 บาทเท่านั้น โดยนวัตกรรมนี้อยู่ระหว่างการเสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ สอบถามได้ที่ หน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา โทร. 054 466 666 ต่อ 3714






ขณะที่ ดร.ปาวีณา ดุลยเสรี ผู้ประสานงาน งานวิจัยและบริหารวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยถึง ‘นวัตกรรม Mobile App เรียนรู้อักษรสามหมู่’ ผลงานพัฒนาโดย ดร.มูนีเร๊าะ ผดุง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ม.ราชภัฏยะลา ว่า ด้วยจุดเริ่มต้นจากเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความไม่เข้มแข็งทางภาษา การผันวรรณยุกต์จะทำได้ยากมาก ปัญหาแท้จริงแล้วอยู่ที่การพูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดไม่ชัดเพราะผันวรรณยุกต์ไม่ได้ แอปตัวนี้จะมีนิยามของรูปวรรณยุกต์ที่มี 4 รูป 5 เสียง คือ เอก โท ตรี จัตวา บอกว่าคืออะไร มีเกมให้เล่น มีเสียงให้ฟัง เหมาะสำหรับเด็กวัยระดับประถมศึกษา ซึ่งนำไปใช้จริงแล้วในพื้นที่ โดยอาจจะเหมาะกับเด็กที่ออกไปนอกเมืองสักหน่อย ซึ่งเกมที่ให้เล่นเด็กจะรู้สึกสนุกขึ้น เช่น ปลา ให้เลือกเติมต่อด้วยเสียงว่า เกา หรือ เก๋า ที่ควรนำมาคู่กัน ถ้าตอบผิดจะลากวางศัพท์ลงไม่ได้ เป็นต้น

“เบื้องต้นต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า ปัจจุบันเด็กติด social ครูผู้สอนต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะไปทลายกำแพงของเด็ก ให้เขาคุ้นเคยกับสิ่งที่มี และรู้สึกตื่นตาตื่นใจเวลาเล่น เช่น แอปมีเสียงนะ มีเกมให้เล่นนะ เป็นต้น และการที่เด็กบางคนยังไม่มีแท็บเล็ต การสอนแบบนี้เหมือนสอนใช้เทคโนโลยีไปด้วย ธรรมชาติของเด็กจะอยู่กับวิชาการได้ไม่นาน จึงต้องหาสิ่งที่เป็นลูกล่อลูกชนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียน เรียกร้องความสนใจเขาได้ เพราะยังเชื่อมั่นว่าการศึกษาคือการหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งมีอนาคตที่ดี ฉะนั้นจึงยังให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้ แอปนี้จะเน้นเด็กที่ยังไม่สามารถผันวรรณยุกต์เป็น โดยแอปจะสอนให้แยกได้ว่าอะไรคือเสียงสูง ต่ำ กลาง รวมถึงเสียงคำเป็นคำตาย ซึ่งจะมีผลต่อการพูดและสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน เพื่อต่อยอดการศึกษาในชั้นสูงต่อไป ทั้งนี้ แอปเรียนรู้สามหมู่สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีทั้งในระบบ iOS และ Android อยู่ระหว่างการเสาะหาผู้ร่วมวิจัยพัฒนา ประเภทเทคโนโลยีต่อรองราคา สอบถามได้ที่ งานวิจัยและบริหารวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ฯ ม.ราชภัฎยะลา โทร. 073 299 628 ต่อ 71000 หรือข้อมูลเพิ่มเติมคลิก https://www.thailandtechshow.com/ดร.ปาวีณา กล่าวเสริม
« Last Edit: September 12, 2019, 08:11:17 AM by news »