news on September 03, 2019, 01:01:01 PM




สวทช. - มจธ. - มจพ. ร่วมยกระดับผู้ประกอบการอุตฯ บรรจุภัณฑ์และโซ่อุปทานไทยให้แข่งขันได้ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

(3 ก.ย. 62) ที่ อาคารเค เอกซ์ (Knowledge Exchange) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ลงนามความร่วมมือ “โครงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ แข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายและร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพ ไม่น้อยกว่า 20 ราย ในระยะเวลา 2 ปี


รศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานครั้งนี้ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์พัฒนายกระดับศักยภาพด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขีดความสามารถพึ่งพาตนเองของผู้ประกอบการทั้งระดับกลางและระดับย่อย พัฒนาคุณภาพบรรจุภัณฑ์ทั้งในด้านการใช้งานและความสวยงาม สร้างสรรค์แนวทางการใช้ทรัพยากรทุก ๆ ด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์และมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ ซึ่ง มจธ. โดยภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี จะเน้นส่งเสริมกระบวนการสร้างสรรค์การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ผลิตหรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และเข้าไปให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ การเลือกใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ การยืดอายุการเก็บอาหาร การลดต้นทุนการผลิตและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์หรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมทั้งกระบวนจัดหาวัตถุดิบ จนถึงขั้นตอนกำจัดทิ้ง ที่จะสามารถนำสิ่งเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้


ด้าน ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน จะเป็นการร่วมมือกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของผู้ประกอบการ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการผลิตแบบอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาระบบ IoT และการสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big data ให้เกิดระบบการผลิตทางไซเบอร์-กายภาพ (Cyber Physical Product System) ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับศักยภาพทางการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเกิดความมั่งคั่งและยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่ง มจพ. โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพทางการผลิต สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเน้นใช้กลไกความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ด้วยการสร้าง ‘ห่วงโซ่คุณค่า’ (Value Chain) ให้สถานประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณค่าของธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดที่ตอบสนองต่อการเพิ่มจุดแข็งการแข่งขันด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตด้วยระบบปฏิบัติการอัตโนมัติอัจฉริยะ การจัดการเทคโนโลยีบำรุงรักษาและความน่าเชื่อถือเพื่อลดความสูญเสียของเครื่องจักรและค่าใช้จ่าย การจัดการโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม การควบคุมและติดตามผลกำไรกระบวนการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาระบบควบคุมและติดตามความก้าวหน้างานเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตแบบ Real Time เป็นต้น

   
และ นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัย 2 แห่งครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันอย่างครอบคลุมในทุกมิติเพื่อเตรียมพร้อมในการวางแผนใช้ทรัพยากรอย่างริเริ่มสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเครื่องมือและองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาและเกิดนวัตกรรม ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่ได้รับจากการเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ทั้งระดับกลางและระดับย่อยในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ แข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งยังสร้างเครือข่ายและร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับคำแนะนำด้านวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์และนวัตกรรมการออกแบบ วัสดุและเทคโนโลยีการพิมพ์ จากผู้เชี่ยวชาญ และการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอย่างน้อย 20 รายในระยะเวลา 24 เดือน (ก.ย. 62 - ส.ค. 64) ตลอดอายุโครงการฯ

“โครงการฯ มุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำ creative and problem solving ทางด้านบรรจุภัณฑ์ การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุและการผลิตงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยในการพัฒนาคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ ทั้งในด้านใช้งานและความสวยงาม สร้างสรรค์แนวทางใช้ทรัพยากรทุก ๆ ด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังหวังให้เป็นโครงการนำร่องที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ประสบความสำเร็จ เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการ ด้วยการสนับสนุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลิตสินค้า ใช้ทรัพยากรทุก ๆ ด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้เพิ่มให้ผู้ประกอบการ ผ่านการส่งเสริมความรู้และนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
   
สำหรับผู้สนใจ ขอรับการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการออกแบบ วัสดุและเทคโนโลยีการพิมพ์ รวมถึงคำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ติดต่อได้ที่โปรแกรม ITAP สวทช. โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1301, 1368, 1381 หรือที่ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. โทร. 0 2470 8571-4 และศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพทางการผลิต สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. โทร. 0 2555 2000
« Last Edit: September 03, 2019, 01:04:01 PM by news »