MSN on August 26, 2019, 02:48:37 PM
กองทุนบัวหลวง เปิดตัวฟันด์ออฟฟันด์ที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ‘B-IR-FOF’ IPO 27 ส.ค. – 3 ก.ย. เพื่อเติมเต็มความต้องการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก

กองทุนบัวหลวงเสนอขาย IPO “กองทุนเปิดฟันด์ออฟฟันด์บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์” (B-IR-FOF) เพื่อเติมเต็มความต้องการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง



นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนเปิดฟันด์ออฟฟันด์บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองทุน B-IR-FOF จะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 3 กันยายน 2562 นับเป็นครั้งแรกที่กองทุนบัวหลวงเปิดตัวกองทุนรวมประเภทฟันด์ออฟฟันด์ที่จะไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหลายกองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“เราออกกองทุนนี้ ตามเสียงเรียกร้องของลูกค้าและนักลงทุนที่ต้องการจัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปยังสินทรัพย์ทางเลือกที่มีเป้าหมายจะให้ผลตอบแทนในระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหุ้น แต่สูงกว่าตราสารหนี้” นายพีรพงศ์ กล่าว 

B-IR-FOF จะลงทุนผ่านกองทุนรวมหลายกองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) และกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ที่เน้นลงทุนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จะลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม B-IR-FOF

นายพีรพงศ์ กล่าวว่า จุดเด่นของ B-IR-FOF คือ ทำให้นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่มีรายได้จากธุรกิจที่มีศักยภาพได้หลากหลายมากขึ้น เช่น สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงงาน คลังเก็บสินค้า เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ โรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ



การที่ B-IR-FOF เปิดให้จองซื้อขั้นต่ำที่ 500 บาท ทำให้ผู้ที่มีเงินลงทุนเริ่มต้นน้อยมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนผ่านกองทุนรวมนี้ได้ด้วย ทั้งยังมีโอกาสรับเงินปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง

นอกจากนี้ B-IR-FOF ยังสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ของ บลจ.ต่างๆ ในไทย รวมถึงกองทุนดังกล่าวที่กองทุนบัวหลวงเป็นบริษัทจัดการได้ หากกองทุนนั้นจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีราคาซื้อเหมาะสม ก็สามารถเข้าลงทุน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 38 กองทุน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 23 กองทุน และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 8 กองทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 7.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.1% ของมูลค่าตลาด และในช่วงที่ผ่านมา กองทุนกลุ่มนี้ให้เงินปันผลตอบแทนเฉลี่ย 5.5% ต่อปี สูงกว่าอัตราเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอยู่ที่ 3%

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า กองทุนนี้นอกจากจะลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังกระจายการลงทุนไปในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นตลาด REITs ที่มีขนาดอันดับใหญ่ต้นๆ ของเอเชีย  สิงคโปร์มีกองทุนประเภทดังกล่าวนี้ถึง 42 กองทุน มูลค่าตลาดรวม 95,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 10% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยที่ผ่านมา จ่ายเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ย 6.4% ต่อปี

“เนื่องจากกองทุนในสิงคโปร์มีการกระจายการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน ออสเตรเลีย สหรัฐ เวียดนาม จึงตอบโจทย์เรื่องกระจายการลงทุนได้อย่างดี ขณะเดียวกัน ทีมผู้จัดการกองทุนของเราก็มีประสบการณ์ในการลงทุนที่สิงคโปร์ ผ่านการลงทุนในกองทุน B-SENIOR, B-SENIOR-X และ B-INCOME อยู่แล้ว” นายพีรพงศ์ กล่าว

“กองทุนบัวหลวง เชื่อมั่นว่า การลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Staying Invested) ด้วยกลยุทธ์ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย สามารถช่วยรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้ ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสม หากนักลงทุนกำลังมองหาการลงทุนที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น แต่สูงกว่าตราสารหนี้หรือเงินฝาก โดยมีโอกาสจะได้รับเงินปันผลระหว่างทาง กองทุน B-IR-FOF ก็เป็นทางเลือกที่ลงตัว แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศได้ด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียด กองทุน B-IR-FOF หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ กองทุนบัวหลวง โทร. 0 2674 6488 กด 8 หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนขายของกรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส บมจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ ภัทร บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี และ บจ.หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน