news on August 16, 2019, 08:07:24 AM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมคณะผู้บริหาร

ดร.สุวิทย์ฯ รมว.อว. ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ สวทช.


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะ เข้าหารือ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับ สวทช.


วันนี้ (15 สิงหาคม 2562) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ เข้าหารือ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะผู้บริหาร กล่าวต้อนรับและนำเสนอชุดโครงการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม 113 อาคารสำนักงานกลาง (อาคาร 1) สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ดร.สุวิทย์ฯ กล่าวว่า โปรแกรมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทั้ง 6 โปรแกรม ที่ สวทช. นำเสนอในวันนี้ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ด้วยกลไก Technology Localization, การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG: Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy), แพลตฟอร์มลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิต, การยกระดับพลเมืองเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation), การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม, และการสร้างขุมพลังแห่งปัญญา (National Brain Power) ต้องมีการตั้งวงบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชน ให้มีการจัดทำนวัตกรรมที่จะได้จากแต่ละชุดโปรแกรม ให้มีการวางแผนธุรกิจ แผนการบริหารชุดโครงการให้ชัดเจน จะกลับมาประชุมกับ สวทช. อีกใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเข้มแข็งและสมบูรณ์ โดยเฉพาะต้องสร้าง BCG in Action ให้เป็นรูปธรรม

ส่วนการขับเคลื่อนในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมจะขับเคลื่อนผ่าน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อสร้างคนและองค์ความรู้ รวมหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังกันนำไปสู่การตอบโจทย์ประเทศ สร้างระบบนิเวศของการสร้างนักวิจัย คนมีความสามารถของไทยและของโลกมาทำงานร่วมกัน  2. แพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อความสามารถในการแข่งขันของ 11 S-Curves การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และการยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใช้ AI and Data Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจแบ่งปัน ในการขับเคลื่อนประเทศ 3. แพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิต ขจัดความยากจน ส่งเสริมการวิจัยที่ตอบโจทย์สำคัญของชุมชนและทุกภาคส่วน และ 4. แพลตฟอร์มแก้ปัญหาโจทย์ความท้าทายขนาดใหญ่ของประเทศ (Grand Challenges) ด้วยการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research), การเตรียมนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (Aging Society), การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างได้ผล, การทำขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) เป็นต้น
« Last Edit: August 16, 2019, 08:09:01 AM by news »