news on August 14, 2019, 07:40:06 AM



สวทช. อว. จับมือ สสช. หนุนงานวิจัย Big Data ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสริมศักยภาพและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน


ตัวอย่างการนำ Big Data มาใช้งาน โครงการ TPMAP ระบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า

(13 สิงหาคม 2562) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาสถิติและสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ” เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาข้อมูล สถิติ และสารสนเทศที่ใช้ในการวางแผน การกำหนดนโยบาย และการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในระดับต่าง ๆ ด้วยการใช้ Big Data รวมถึงสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการพัฒนาสถิติและสารสนเทศ สำหรับใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ เสริมความเข้มแข็งและศักยภาพในการพัฒนาประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างมั่นคงต่อไป โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นายภุชพงค์ โนดโธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมลงนาม


นายภุชพงค์ โนดโธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีหน้าที่ในการเป็นสำนักงานสถิติกลางของรัฐบาล ด้วยการบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยให้สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างง่าย สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เชิงลึกและเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำไปกำหนดนโยบายของภาครัฐในสาขาต่าง ๆ ได้ และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผล หรือตัวชี้วัดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ สำหรับ สสช. และ สวทช. นี้ ได้ดำเนินงานร่วมกันหลายโครงการ เช่น โครงการ การจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม หรือ SEEA (System of Environmental and Economic Accounting) ตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ และโครงการการพัฒนาข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ วาระการพัฒนา ค.ศ. 2030 (Agenda 2030) และ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และของประเทศไทย ทำให้เกิดการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาสถิติและสารสนเทศ เพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์และส่งเสริมการดำเนินงานตอบโจทย์ประเทศต่อไป


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ทำงานร่วมกัน อาทิ โครงการ การจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม หรือ SEEA (System of Environmental and Economic Accounting) ตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องใช้การบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านสถิติระบบบัญชีประชาชาติ ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ร่วมกับบัญชีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ สวทช. ได้เก็บรวบรวมไว้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยโครงการนี้ ในระยะแรกเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) โดยทำระบบบัญชีสมุทรศาสตร์ (Ocean Accounts) เพื่อให้รู้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศ และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล รองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลที่ยั่งยืน และโครงการพัฒนาข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ วาระการพัฒนา ค.ศ. 2030 (Agenda 2030) และ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และของประเทศไทย ซึ่ง สสช. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีตัวชี้วัด SDGs ของประเทศ จำนวนกว่า 230 ตัวชี้วัด และ สวทช. ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยพัฒนาและออกแบบระบบเก็บรวบรวมข้อมูลฐาน (baseline data) ที่สำคัญของประเทศ หลายตัวชี้วัด เช่น ฟุตพรินต์วัสดุของประเทศ (Material Footprint หรือ MF:  SDG 8.4.1 และ SDG 12.2.1)  ปริมาณการใช้วัสดุภายในประเทศ (Domestic Material Consumption หรือ DMC:  SDG 8.4.2 และ SDG 12.2.2) และ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อมูลค่าเพิ่มของประเทศ (GHGs per Value Added: SDG 9.4.1) เป็นต้น

“จากการทำงานร่วมกันทั้งสองโครงการนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้เกิดความร่วมมือและสนับสนุนการวิจัยให้เกิดการพัฒนาข้อมูล สถิติ และสารสนเทศที่ใช้ในการวางแผน การกำหนดนโยบาย และการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในระดับต่าง ๆ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาสถิติและสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ ด้วยการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ร่วมกันอีกด้วย เพื่อเสริมศักยภาพของประเทศด้วยการใช้ วทน. ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป” ดร.ณรงค์ กล่าวเสริม
« Last Edit: August 14, 2019, 07:41:53 AM by news »