news on July 23, 2019, 02:15:50 PM



นิสิต INDA โชว์ฝีมือสวนดอกไม้ดิจิทัล วัดมลภาวะกรุงเทพมหานคร





   ดอกไม้ดิจิทัลที่เปล่งแสงสวยงามอยู่ด้านหน้า AIS Design Centre ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ชั้น 5 เป็นผลงานของทีมนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า INDA หากมองดูเพียงผิวเผินอาจดูเหมือนดอกไม้ประดิษฐ์ติดแสงไฟ แต่ที่จริงแล้วดอกไม้เหล่านี้กำลังทำหน้าที่สะท้อนผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศและเสียง ของประชาชนใน 12 เขตพื้นที่กทม. โดยจัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ IoT GARDEN แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในการช่วยสื่อสารถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ออกมาในรูปแบบของงานศิลปะผ่านดอกไม้เหล่านี้

ดอกไม้สะท้อนมลพิษ
   “ผลงานในการประกวดครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชา Design-Build Project  พอได้โจทย์มาเราก็พยายามตีโจทย์ออกมาว่าเทคโนโลยี  IoT  จะเข้ามาช่วยในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร สามารถแสดงออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง เราก็มองถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตก็คือต้นไม้ ดอกไม้ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม จึงออกแบบให้เป็นดอกไม้ที่สามารถหุบได้ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีความชื้นในอากาศต่ำ บริเวณเกสรดอกไม้หากเป็นสีแดงแสดงว่ามีค่าฝุ่น 2.5 PM ในปริมาณสูง และฐานของดอกบัวจะแสดงมลภาวะทางเสียง ด้วยการปล่อยเสียงในพื้นที่เขตนั้น


   นอกจากนี้ผู้เข้าชมยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับดอกไม้ด้วยการใช้พัดโบกให้เกิดลม เพื่อให้ดอกไม้บานออกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว หากเอาพัดไปบังที่ใต้ฐานดอกไม้จะมีเสียงนกร้อง เสียงธรรมชาติอื่น ๆ ออกมาได้อีกด้วย” พลอย สกาวแก้ว จินดาวิชชุ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) เล่าถึงผลงานและแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานร่วมกับเพื่อน ๆ อีก 12 คน ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากคณะกรรมการเป็นอย่างมาก

   ในขณะที่เพื่อนร่วมทีมอย่าง ปริญญ์ ปริญญานุสรณ์ ผู้รับผิดชอบการเขียนโปรแกรมซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ยากที่สุดในการทำงานไม่แพ้การออกแบบ เล่าถึงแนวทางในการทำโครงการนี้กับพี่ ๆ ว่า “ในส่วนที่ดูแลเรื่องการเขียนโปรแกรมมีอยู่ 2 คนซึ่งผมเองไม่ได้มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมมากนักอีกทั้งเวลาค่อนข้างจำกัด ก่อนทำโปรเจคนี้ก็ได้ไปฝึกอบรมการเขียนโปรแกรมและเรียนรู้เรื่องไอโอทีกับพี่ ๆ ทีมงาน AIS Next (Novel Engine Execution Team) กลับมาเราก็ต้องมาเลือกโปรแกรมและบอร์ดควบคุมสำหรับการเขียนโค้ดคือ “Adruino” ในการควบคุมการแสดงสีและการเคลื่อนไหวของดอกไม้ แต่กว่าจะได้ตรงนี้ก็ผ่านการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง

   บางทีเขียนแล้วไม่สามารถดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ของทางเอไอเอสมาแสดงผลได้ หรือบอร์ดที่ใช้ 2 ตัวไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนกันจนกว่าจะลงตัว แต่สิ่งที่ได้กลับมาผมคิดว่าค่อนข้างคุ้มค่า ได้เรียนรู้หลายอย่างจากการทำงานตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการเขียนโค้ดโปรแกรมสอนให้คิดอย่างเป็นระบบ แม้จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมากก็ตาม และสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมากที่สุดก็คือ เขียนโปรแกรมออกมาแล้วดอกไม้สามารถทำงานได้ทุกอย่างตามที่เราต้องการ สำหรับผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

ดิจิทัลต้องผสานทั้งศาสตร์และศิลป์
   นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค  Head of Novel Engine Executive team – AIS กล่าวว่า “เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วเรามีการพูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนยุคเทเลคอมมาเป็นดิจิทัลไลฟ์ ใช้เทคโนโลยีในการยกระดับสังคม ทางเอไอเอสมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม มีความเข้มแข็งด้านอินฟราสตรักเจอร์ แต่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่จะมาช่วยสร้างสรรค์แพลตฟอร์มที่นำเอาศาสตร์และศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน จึงร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษา และสตาร์ทอัพต่าง ๆ ซึ่งครั้งนี้เราได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดการออกแบบ IoT Garden นี้ขึ้นมา

   ผลงานที่ออกมาก็น่าชื่นชมอย่างมาก ผมคิดว่าพอมาเป็นการแสดงผลในรูปแบบของดอกไม้ในงานจัดแสดงนิทรรศการจะเป็นสิ่งที่คนสามารถรู้สึกและจับต้องได้จริง ซึ่งน้อง ๆ ได้ใส่เรื่องราวในการออกแบบและเทคโนโลยี IoT ที่ส่งจากเครื่องตรวจจับมลภาวะในกทม.ทั้ง 12 เขต มาแสดงในรูปแบบของสวนดอกไม้ที่มีสีสันและมีอินเทอร์แอคทีฟกับผู้เข้าชม ต่อไปผมคิดว่าจะนำโมเดลงานนี้ไปต่อยอดสู่โจทย์อื่น ๆ ในการการสร้างแพลตฟอร์ม AIS Hackathon ที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต


   ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย อาจารย์ประจำหลักคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเสริมถึงนิทรรศการ IoT GARDEN ว่า “โจทย์นี้เรามีเวลาในการทำอยู่ประมาณ 5 สัปดาห์ ในการผลิตผลงานจริงในระยะเวลาอันสั้นแต่เนื่องจากนิสิตยังเรียนอยู่แค่ปีที่ 2 ยังไม่เคยเรียนต้านโปรแกรมมิ่งมาก่อน หรือศึกษาในเรื่อง IoT มาก่อนเราซึ่งได้ทางเอไอเอส มาช่วยอบรมเรื่อง IoT และการเขียนโปรแกรมมิ่งประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นทำเวิร์กช้อปหาไอเดียของเทคโนโลยีออกมาเป็นผลงาน จนได้รูปแบบที่ประกวดชนะมา 1 รูปงาน






   ผลงานของนักศึกษาไม่ใช่แค่การทำให้ดอกไม้ทำงานไปตามค่ามลพิษที่เกิดขึ้น แต่ยังสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมให้เห็นว่าดอกไม้ในพื้นที่อยู่อาศัยกำลังประสบปัญหา หากเอาพัดไปโบกให้ดอกไม้เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว ก็เปรียบเสมือนลมที่ช่วยปัดเป่าฝุ่นหรือมลภาวะทางอากาศต่าง ๆ ออกไป แล้วข้อมูลเหล่านี้ก็จะส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ เก็บไว้เป็นข้อมูลว่ามีคนในพื้นที่นี้แสดงความห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือผลงานนี้สามารถใช้ได้จริง หรือจะนำไปประยุกต์ต่อยอดในการเรียนและการทำงานอื่น ๆ ได้อีกมากมายซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับตัวนักศึกษาทุกคน”

   สำหรับผู้สนใจชมนวัตกรรมของน้อง ๆ นิสิต INDA ในนิทรรศการอินเทอร์แอคทีฟ  IoT GARDEN : สวนดอกไม้ดิจิทัล สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 15 สิงหาคม 2562  ได้ฟรี ที่บริเวณ AIS D.C. ณ ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ชั้น 5 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  02 218 4330  หรือ www.cuinda.com และ facebook : IoT Garden
« Last Edit: July 23, 2019, 02:22:57 PM by news »