news on July 15, 2019, 02:29:53 PM


สวทช. – เมืองนวัตกรรมอาหาร เปิดบ้านเครือข่ายภาคเหนือหนุนผู้ประกอบการชา กาแฟ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน




กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จัดกิจกรรม “Site Visit: Food Pilot Plant Facilities #3 เปิดบ้านเครือข่าย Food Innopolis ภาคเหนือ” ในโครงการ “Tea & Coffee Innovation Trip” ระหว่างวันที่ 8 - 12 กรกฎาคม 2562 ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเรียนรู้ระบบชาและกาแฟ ทั้งในเชิงศิลปะและอุตสาหกรรม รวมถึงเข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบ เครื่องมืออุปกรณ์ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเพื่อให้เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชาและกาแฟ รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศในอนาคต


น.ส.สุธีรา อาจเจริญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis: FI) สวทช.
กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารโดยเฉพาะด้านชาและกาแฟให้มีการทำนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงระบบชาและกาแฟ โดยการดำเนินงานของ Food Innopolis จะทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยกิจกรรม Site Visit: Food Pilot Plant Facilities #3 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 8 - 12 กรกฎาคม 2562 ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบ เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มศักยภาพงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และการสร้างธุรกิจเทคโนโลยี

โดยหน่วยงานเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park, Chiang Mai University: STeP), คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับความรู้ และสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และนวัตกรรมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นด้านของการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภค บริการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมี มาตรฐานการทดสอบในระดับสากล รวมถึงการบริการเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการปลูก การจัดการคุณภาพของผลผลิต และการคัดแยกคุณภาพเมล็ด การบริการลดความชื้นเมล็ด บริการคลิกนิกเกษตรเพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งการให้คำแนะนำเพื่อการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกตามระบบรับรองการผลิต ทั้งนี้จะทำให้เกิดความเชื่อมโยง ต่อยอดธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้ก้าวสู่ระดับสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป


รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park, Chiang Mai University: STeP) กล่าวว่า STeP หน่วยงานในส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม (University Industry Linkage: UIL) เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มศักยภาพงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มต้น (Tech Startups) โดย STeP ดำเนินงานบนพื้นฐานของการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ทั้งผลงานการวิจัย นักวิจัย เครื่องมือวิจัย ตลอดจนห้องปฏิบัติการให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมีหน่วยการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภคการ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และบริการผู้ประกอบการ ด้านการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภค โดยเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงโรงงานต้นแบบ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พร้อมให้บริการทั้งหน่วยงานภายใน และผู้ประกอบการทางด้านอาหารในด้านต่างๆ ได้แก่ บริการงานการเรียนการสอนในคณะอุตสาหกรรมเกษตร บริการผลิตเพื่อการทดลองตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 


พัชนี สุวรรณวิศลกิจ นักวิทยาศาสตร์เกษตรศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center) กล่าวว่า ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำเนินการรวบรวม ความรู้ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตกาแฟอะราบิกาแบบครบวงจร รวมถึงดําเนินการพัฒนากระบวนการแปรรูปเมล็ดกาแฟคั่วให้มีคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และบริการวิชาการให้กับผู้สนใจทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟ


ผศ.ดร.ทองเลียน บัวจูม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มีหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการนี้ในส่วนของโรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory กลุ่มวิจัยฟาร์มอัจฉริยะและโซลูชั่นเกษตร เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการในทุกระดับ ด้วยระบบการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Food Machinery Research Center คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ให้การบริการทางวิชาการ และให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ทางด้านอาหาร รวมถึงกลุ่มเครื่องจักรกลอาหารทั้งภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก และผู้ประกอบการเอกชน รวมถึงศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวิทยาการอาหารนานาชาติ (International Gastronomy Tourism Centre: iGTC) มีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่อีกด้วย


ดร จุฑามาศ นิวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า สนับสนุนเมืองนวัตกรรมอาหารในส่วนของดำเนินงานศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานที่ให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยครบครัน มีสถานที่ และบุคลากรที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยให้บริการสนับสนุนการเรียนการสอน งานวิจัยบริการวิชาการให้กับสังคม บริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าทั้งจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์น้ำทิ้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูง ปัจจุบันห้องปฏิบัติการสอบเทียบศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน มอก.17025-2543 (ISO/IEC 17025:2005) สาขาการสอบเทียบมวล รายการการสอบเทียบเครื่องชั่งไฟฟ้า ตามวิธี UKAS-LAB14 และที่ขาดไม่ได้คือ สถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีความพร้อมในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมีของชาและผลิตภัณฑ์ชา ให้กับผู้ปลูก ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชา นักวิชาการ นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยชาและผลิตภัณฑ์ชาของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับชาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชาของไทยให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากล โดยห้องปฏิบัติการชามีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน วัสดุอุปกรณ์และสารเคมีที่มีความพร้อมสำหรับการดำเนินงานวิจัย รวมทั้งได้มีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การรับรองระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025