news on July 13, 2019, 12:33:10 PM
ไวล์ดเอด จับมือแพลน บี มีเดีย ชวน #ฉลองไม่ฉลาม ผ่านสื่อดิจิตอล ย่านช้อปปิ้งชื่อดังเนื่องในวันรู้จักฉลาม




กรุงเทพฯ (12 กรกฎาคม 2562)  -  องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ร่วมกับบริษัทแพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้นำในบริการสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย (Out of Home Media)  ผนึกกำลังปกป้องฉลาม ผู้รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล ด้วยสื่อรณรงค์ชุดใหม่ล่าสุดชวนทุกคน #ฉลองไม่ฉลาม ด้วยการไม่เสิร์ฟ ไม่ทานหูฉลามในงานแต่งงาน และงานฉลองต่างๆ ผ่านสื่อดิจิตอลของแพลน บี ในย่านศูนย์การค้าชื่อดังกลางกรุงเทพมหานคร อย่าง EM District เนื่องในวันรู้จักฉลาม หรือ Shark Awareness Day ที่ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี



สื่อรณรงค์ล่าสุดที่ผลิตโดยองค์กรไวล์ดเอด มีเป้าหมายเพื่อบอกว่า การจัดงานแต่งงาน ถึอเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ของชีวิต มีเรื่องให้ต้องเลือก ต้องตัดสินใจมากมาย และสิ่งที่เลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน อาจมีผลกระทบตามมาอย่างที่เราคาดไม่ถึง การเสิร์ฟหูฉลามในวันสำคัญ คือการเลือกที่แย่ที่สุด เพราะฉลาม คือสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ที่เปรียบเหมือนเสือในป่า พวกมันกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากความต้องการบริโภค และการประมงเกินขนาด 

ผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณ Em District สามารถติดตามสื่อรณรงค์ล่าสุดนี้ที่จอด้านหน้าศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม และเอ็มควอเทียร์ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 

ทุกๆ ปี มีฉลามมากถึง 100 ล้านตัวถูกฆ่า และในจำนวนนี้ ครีบจากฉลามมากถึง 73 ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม หรือเมนูอื่นๆ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลาม ที่ฉลามจะถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต

ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย พ.ศ 2560 ขององค์กรไวลด์เอดที่พบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยผู้บริโภคทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน (72%) งานรวมญาติ (61%) และงานเลี้ยงธุรกิจ (47%)  ซึ่งเป็นที่มาของสื่อรณรงค์ชุดใหม่ เดินหน้าโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

“บริษัทแพลน บี มีเดีย ภูมิใจที่ได้ร่วมกับองค์กรไวล์ดเอดในการปกป้องฉลาม เราตระหนักดีถึงการลดลงของประชากรฉลามทั่วโลก และความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ต่อสาธารณชน ความร่วมมือระหว่างแพลน บี และไวล์ดเอด ตอกย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบายในการส่งเสริม และสนับสนุนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราเชื่อว่า นวตกรรมสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา ผนวกกับสื่อรณรงค์สร้างสรรค์ อย่างโครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ขององค์กรไวล์ดเอดจะทำให้การรณรงค์เข้าถึงสาธารณชนจำนวนมากตลอดทั้งเดือนนี้ และเรายินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสมดุลกลับคืนสู่ท้องทะเล”  คุณปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าว

ที่ผ่านมา บริษัท แพลน บี มีเดีย ได้ยึดมั่นและส่งเสริมนโยบายการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเอื้อเฟื้อพื้นที่โฆษณาของบริษัทเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการขององค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ความร่วมมือระหว่างองค์กรไวล์ดเอด และ บริษัทแพลน บี ถือว่าสำคัญมากในการยกระดับการเผยแพร่โครงการ  #ฉลองไม่ฉลาม ให้เข้าถึงสาธารณชนหลายล้านคนในประเทศไทย เราเชื่อว่าการสนับสนุนจากแพลน บีในครั้งนี้ จะสามารถผลักดันค่านิยมใหม่ของการไม่เสิร์ฟ ไม่ทานหูฉลามในงานแต่งงาน และในทุกๆ โอกาสให้เป็นที่แพร่หลายในสังคมมากยิ่งขึ้น” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

โครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม และสื่อรณรงค์ชุดใหม่ล่าสุดสร้างสรรค์โดยบริษัท #BBDOBangkok   

เอเจนซี่โฆษณาแถวหน้าของไทย ให้กับองค์กรไวลด์เอด นอกจากสื่อโฆษณาภายนอกบ้านแล้ว จะเผยแพร่สื่อดังกล่าวทางโซเชียล มีเดีย และออนไลน์อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับบรรณาธิการและผู้สื่อข่าว
ดาวน์โหลดโฆษณา และรูปเพื่อประกอบข่าว: https://bit.ly/2Sb5oB4
ดาวน์โหลดผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในไทย: https://bit.ly/2RLuViI

ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับฉลาม และภัยคุกคามฉลาม ในวันรู้จักฉลาม:
•   วันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวัน Shark Awareness Day หรือ วันรู้จักฉลาม ถือเป็นโอกาสสำคัญของปี ที่จะสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับฉลาม ให้กับคนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของฉลามที่มีต่อระบบนิเวศ และภัยคุกคามประชากรฉลามทั่วโลกในขณะนี้
•   ฉลามทำหน้าที่รักษาความสมดุลของท้องทะเล เหมือนเสือในป่า โดยทำหน้าที่ควบคุมประชากรและพฤติกรรมสัตว์ทะเล ควบคุมโรคระบาด มีการศึกษาพบว่า ในบริเวณที่ประชากรฉลามหายไป มีส่วนสัมพันธ์ต่อการลดลงของประชากรปลาหลายชนิด และความเสื่อมโทรมของปะการัง
•   ในแต่ละปีฉลามราว 100ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบจากฉลาม 73ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม การล่าฉลามเพื่อตัดครีบ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนและโหดร้าย โดยฉลามถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ทะเล ซึ่งทำให้ฉลามต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
•   1 ใน 4 ของสายพันธุ์ฉลามกำลังถูกคุกคามและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการทำประมงเกินขนาด -Dulvy et al.
•   การประมงเชิงพาณิชย์แบบที่ตั้งใจจับ และไม่ได้ตั้งใจ หรือที่เป็นผลพลอยได้จากการทำประมง ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อฉลาม รวมถึงการติดเครื่องมือประมงที่สูญหาย หรือถูกทิ้ง การติดพันขยะในทะเลตามร่างกาย และปริมาณไมโครพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในทะเล
•   ฉลามเติบโตช้า และสายพันธุ์ขนาดใหญ่จะขยายพันธุ์ช้า ใช้เวลาตั้งครรภ์เฉลี่ย 1-3ปี ดังนั้นการเพิ่มจำนวนประชากรของฉลามหลายสายพันธุ์จึงทำได้ไม่เร็วเมื่อเทียบกับการประมงเกินขนาด
•   ผู้บริโภคจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ครีบฉลามที่บริโภคมาจากสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และมาจากการล่าฉลามแบบยั่งยืนหรือไม่ เนื่องจากต้องตรวจดีเอ็นเอเท่านั้น
•   ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหูฉลามรายใหญ่สุดนอกทวีปเอเชีย ผ่านกฎหมายห้ามการนำเข้า และส่งออกครีบฉลาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2562

เกี่ยวกับ  WildAid
WildAid (www.wildaid.org) คือ องค์กรไม่แสวงผลกำไร  มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่า  และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ผิดกฎหมาย WildAid เน้นรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภค และความต้องการ ซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า โดยเราหวังว่า ผู้บริโภคจะไม่กินหูฉลาม ไม่ซื้องาช้าง นอแรด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอื่นๆ อีกต่อไป

WildAidได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 100 คน ร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา การฆ่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผ่านสโลแกนหลักขององค์กร “When the Buying Stops, the Killing Can Too หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า

เราทำงานรณรงค์ที่เอเชียเป็นหลัก ในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง และได้ทำโครงการรณรงค์ Ivory Free หยุดซื้องาช้างในประเทศจีน ฮ่องกง และล่าสุดในไทย
www.wildaidthai.org       www.facebook.com/wildaidthailand    IG: @wildaidthailand