news on July 06, 2019, 12:35:22 PM



ดร. กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ที่2จากซ้าย) ลงนามความร่วมมือ กับ นายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (ที่2 จากขวา)


เอ็มเทค สวทช. จับมือ อาชีวศึกษา ถายทอดการผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อ ปรับรถเข็นทั่วไป เป็นรถเข็นไฟฟ้า

เอ็มเทค สวทช. จับมือ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ถ่ายทอดวิธีการผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อเพื่อปรับเปลี่ยนรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า หลังจากก่อนหน้านี้ถ่ายทอดฯ ให้วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีไปแล้ว เล็งขยายโครงการ เปิดรับอาชีวศึกษาทั่วประเทศเพิ่มโอกาสผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงรถเข็นไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม


ดร.ดนุ พรมมินทร์ นักวิจัยอาวุโส เอ็มเทค สวทช. ผู้ผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต


(5 กรกฎาคม 2562) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในโครงการ "การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1” เพื่อถ่ายทอดวิธีการผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อเพื่อปรับเปลี่ยนรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้าให้กับสถาบันระดับอาชีวศึกษา เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รถเข็นทั่วไป ไม่ว่าผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่มีร่างกายท่อนบนที่ดี ให้มีความอิสระและดํารงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบและผลิตงานทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ให้กับนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา เพื่อจุดประกายเยาวชนให้เป็นนวัตกรรุ่นใหม่ โดยนำผลงานดังกล่าวโชว์ในงานมหกรรมด้านสังคม Thailand Social Expo 2019 ระหว่างวันที่ 5 - 7 กรกฎาคม 2562 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี

ดร. กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้สูงอายุและผู้พิการทางด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่กำลังใช้รถเข็นในปริมาณมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรถเข็นส่วนใหญ่ที่มีการใช้งานอยู่เป็นรถเข็นแบบทั่วไป เนื่องจากรถเข็นแบบมีระบบไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างสูง ทางทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพของเอ็มเทค จึงได้พัฒนาต้นแบบอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1 ในราคาประมาณ 7,000 บาท โดยรถเข็นรุ่นนี้ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า ด้วยการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์ โดย ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำหรับแนวทางในการต่อยอดผลิตรถเข็นไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เอ็มเทค สวทช. ได้ริเริ่มโครงการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยวิธีการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า โดยลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิค 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และในครั้งนี้ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ นำร่องผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า รวมจำนวน 20 ชุด มอบให้อาสาสมัครผู้พิการและผู้สูงอายุในพื้นที่ใกล้เคียง

และอยู่ในระหว่างดำเนินการความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิค อีก 1 แห่ง ให้อาสาสมัครอีก 10 ชุด ซึ่งภายหลังการประเมินการใช้งานจากอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการนำร่องครั้งนี้แล้ว ทางเอ็มเทค สวทช. เตรียมขยายความร่วมมือ โดยจะเปิดรับสถาบันอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุได้ใช้รถเข็นไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมครอบคลุมทุกจังหวัด จากนั้นทางทีมวิจัยต้องการที่จะต่อยอดผลิตรถเข็นไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุได้ใช้รถเข็นไฟฟ้าต่อไป


นายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า เอ็มเทค สวทช. ได้ดำเนินการถ่ายทอดวิธีการผลิตและฝึกสอนการประกอบรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1 ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยหลังโครงการนำร่องจะสามารถให้บริการผลิตรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.1 ให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือนอกสถานที่ รวมทั้งให้บริการซ่อมบำรุงหากเกิดความผิดปกติของอุปกรณ์ การดำเนินโครงการในครั้งนี้นับเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและการวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยีทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนานักศึกษาอาชีวศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพ มีทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สถานประกอบการและประเทศต้องการ ตลอดจนในอนาคตสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ที่สามารถผลิตด้วยวัสดุและแรงงานในประเทศไทย ทำให้มีราคาต่ำลง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการดีขึ้น







« Last Edit: July 06, 2019, 12:42:16 PM by news »