MSN on June 20, 2019, 02:02:30 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์ รู้จัก “แมงกะพรุน” มีพิษ !?

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับ “แมงกะพรุน” มีพิษ ให้ประชาชนได้ทำความรู้จักและศึกษาไว้เป็นข้อมูล จะได้จำแนกประเภทของแมงกะพรุนได้ถูกต้องก่อนเกิดอันตราย

“แมงกะพรุน” มีพิษ

แมงกะพรุน (Jellyfish) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ตัวแมงกะพรุนประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ มีระบบประสาท แต่ไม่มีสมอง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล แต่มีบางชนิดที่อยู่ในน้ำจืด มักพบในทะเลเขตร้อนหรืออบอุ่น สามารถพบได้ตั้งแต่บริเวณผิวน้ำจนถึงทะเลลึก  พิษของแมงกะพรุนจะกระจายอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของแมงกะพรุน แต่จะมีมากที่สุดบริเวณส่วนหนวด (tentacle) แมงกะพรุนที่มีพิษและเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish)  และแมงกะพรุนไฟในกลุ่ม Scyphozoa และ Hydrozoa



สำหรับ แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish)  ลักษณะทั่วไป ลำตัวใส รูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยมมีหนวดยื่นจากแต่ละมุมของร่มหนวดอาจจะมีการแตกแขนง เมื่อสัมผัสถูกแมงกะพรุนพิษ พิษของแมงกะพรุนจะเข้าสู่ผิวหนังทันที ซึ่งความรุนแรงของพิษที่ได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของแมงกะพรุนกล่องและปริมาณพิษที่ได้รับ ส่วนอาการเมื่อได้รับพิษเข้าไปในร่างกายมีดังนี้ มีรอยแผลเป็นเส้นๆ ไขว้กันไปมาเป็นรอยไหม้อาจมีรอยนูนขีดขวางทำให้ปวดมากบริเวณที่สัมผัส อาจหมดสติตัวเขียวและหัวใจหยุดเต้นได้  หรือ มีรอยแผลเป็นเส้นนูนแดง หรือหากมีอาการปวดบริเวณแผล เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก เหงื่อแตก ภายใน 5–40 นาที แสดงว่าถูกพิษแมงกะพรุน 

วิธีปฐมพยายาล ผู้ช่วยเหลือต้องแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัยจากแมงกะพรุน จากนั้นให้รีบนำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำหรือไปยังบริเวณที่ปลอดภัยทันที โดยให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อกันไม่ให้พิษจากแมงกะพรุนกระจายเข้าสู่ร่างกาย ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกพิษแมงกะพรุนเด็ดขาดให้รีบนำน้ำส้มสายชูมาราดบริเวณที่ถูกพิษให้ทั่วถึงอย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 30 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำจืด)  ตะโกนเรียกให้คนช่วยหรือเรียกรถพยาบาลและควรอยู่กับผู้บาดเจ็บตลอดเวลาเพราะผู้บาดเจ็บอาจหมดสติได้ภายในไม่กี่นาที   ถ้าหากผู้บาดเจ็บหมดสติไม่หายใจ หรือไม่มีชีพจรให้รีบทำการปั๊มหัวใจโดยกดหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อยเปิดทางเดินหายใจโดยการเชยคางขึ้นจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรืออาการดีขึ้นและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที   


แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia cf. utriculus)

ส่วน แมงกะพรุนไฟในกลุ่ม Scyphozoa และ Hydrozoa ได้แก่ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส หรือแมงกะพรุนหัวขวด (Portuguese man-of-war, Portuguese Man o' War, Bluebottle) ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง มีหนวดยาว ส่วนบนที่อยู่เหนือน้ำจะโปร่งพองคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกสในยุคศตวรรษที่ 18 หรือเรือรบของโปรตุเกสในยุคล่าอาณานิคม แมงกะพรุนไฟมีเข็มพิษทุกส่วนนอกจากผิวร่มด้านบน เมื่อร่างกายสัมผัสถูกแมงกะพรุนไฟ พิษจะเข้าสู่ผิวหนังทันที และมีอาการดังนี้คือ มีอาการปวดบริเวณที่ผิวหนังสัมผัส  หรืออาจพบว่ามีอาการปวดลามไปยังแขนขาหรือลำตัวที่โดนพิษ การขยับแขนขาหรือลำตัวที่โดนพิษอาจเพิ่มความเจ็บปวดได้ สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบว่ามีการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ใจเต้นผิดปกติหรือหมดสติ สำหรับในรายที่ตายพบว่ามีอาการหายใจลำบากและหัวใจล้มเหลว

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นอีกเช่น ผู้บาดเจ็บที่สัมผัสโดนแมงกะพรุนไฟ อาจพบรอยแผลเป็นมีลักษณะนูนแดง แผลจะเรียงตัวเหมือนเมล็ดถั่วเป็นรอยนูนรูปไข่แยกเรียงกันและมีรอยแดงล้อมรอบ ในรายที่รุนแรงจะพบการเกิดตุ่มนูนแดงขึ้นได้ แต่โดยทั่วไปจะค่อยๆ บรรเทาลงภายใน 24 ชั่วโมง หรือ อาจมีอาการเจ็บปวดอย่างทันทีพร้อมกับการเกิดรอยแดงจากนั้นไม่นานจะเกิดตุ่มนูนแดงกระจัดกระจายความเจ็บปวดจะทวีความรุนแรงขึ้นมาก ทั้งนี้ทั้งนั้น จะดูอาการมากกว่ารอยแผลที่ปรากฏ

วิธีปฐมพยาบาล ถ้ารู้แน่ชัดว่า ผู้บาดเจ็บสัมผัสโดนพิษแมงกะพรุนไฟ ให้ใช้ใบผักบุ้งทะเลบดปิดบริเวณสัมผัสเพื่อบรรเทา ห้ามใช้น้ำส้มสายชูราดลงไปบนบริเวณที่สัมผัสเด็ดขาด หากมีอาการปวดหัวคลื่นไส้อำเจียนปวดท้อง ใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก หรือหมดสติควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที 


แมงกะพรุนไฟ (Pelagia cf. panopyra)

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่ง แมงกะพรุนไฟ หรือตำแยทะเล (Sea nettles) โดยทั่วไปจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายร่ม ลำตัวประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ ล่องลอยไปตามกระแสน้ำและแรงคลื่นลม ทุกส่วนของแมงกะพรุนไฟมีเข็มพิษยกเว้นผิวร่มด้านบน เมื่อร่างกายสัมผัสกับแมงกะพรุนไฟ พิษจะเข้าสู่ผิวหนังทันที ลักษณะอาการบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัสจะเป็นผื่นหรือปื้นแดง ปวดแสบปวดร้อน  วิธีปฐมพยาบาล ให้รีบล้างเมือกด้วยน้ำทะเล (ห้ามราดด้วยน้ำจืดและน้ำส้มสายชู)  หลีกเลี่ยงการขัดถูหรือขยี้หนวด  แล้วใช้ใบผักบุ้งทะเลบดปิดบริเวณสัมผัสเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อน หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบส่งโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันเพื่อไม่ได้โดนแมงกะพรุนพิษให้หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในบริเวณและช่วงเวลาที่พบสัตว์เหล่านี้และควรเดินสำรวจว่าในบริเวณนั้นมีเสาติดตั้งป้ายการพยาบาลเบื้องต้นและเสาน้ำส้มสายชูหรือไม่ กรณีฉุกเฉินจะได้รับมือและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที      

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแมงกะพรุนพิษ :  www.dmcr.go.th 
« Last Edit: June 20, 2019, 02:06:50 PM by MSN »