MSN on June 19, 2019, 01:44:02 PM
PwC เผยหลักสำคัญ 5 ประการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล

กรุงเทพฯ, 19 มิถุนายน 2562 – บริษัท PwC ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม PwC’s Global Insurance Leadership Meeting 2019 เผยกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยสู่การเป็นผู้นำธุรกิจดิจิทัล คือ การคาดเดาความคาดหวังของลูกค้า รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ การสร้างและพัฒนาทาเลนท์ และการผสานกลยุทธ์เข้ากับการจัดการแบบยืดหยุ่น พร้อมแนะธุรกิจประกันภัยของไทยเร่งปรับตามเทคโนโลยีเกิดใหม่ให้ทัน โดยเน้นความคล่องตัว การจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาและสร้างทาเลนท์ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล

รายงาน The Insurance trends 2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกครั้งที่ 22 ของ PwC โดยทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจประกันภัยจำนวน 140 ราย ระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะให้คุณประโยชน์และมอบโอกาสทางธุรกิจ มากกว่าเป็นความเสี่ยงที่คุกคามธุรกิจ โดยปัจจุบัน ธุรกิจประกันภัย ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีมากที่สุด ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยจำนวนมากมองว่า เทคโนโลยีเกิดใหม่ได้ส่งผลต่อรูปแบบของการดำเนินธุรกิจประกันภัย รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ผลจากการสำรวจพบว่า ผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีกลายเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของการดำเนินธุรกิจ โดยผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจประกันภัย ยังคงมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี จะเน้นไปที่การเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมถึงพัฒนารูปแบบของการทำธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งซีอีโอในกลุ่มธุรกิจประกันภัย มากกว่า 80% เผยว่า ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence:  AI) เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ หรือมีแผนจะนำมาใช้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (The Internet of Things: IoT) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อลดการเรียกร้องค่าชดเชยเกี่ยวกับทรัพย์สิน และความเสี่ยงจากความเสียหายของพืชผล ตัวอย่าง เช่น การจัดระเบียบข้อมูลแบบเรียลไทม์จากเซ็นเซอร์บนภาคพื้นดิน ทางอากาศ และจากภาพถ่ายดาวเทียม

ทั้งนี้ รายงาน The Insurance trends 2019 ยังได้ชี้ถึงหลักสำคัญ 5 ประการที่ธุรกิจประกันภัยจะสามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรในยุคดิจิทัล โดยแต่ละข้อแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่หากนำมาเชื่อมโยงกันทั้ง 5 หลัก ก็จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจประกันภัยมีประสิทธิภาพสูงสุด

1.   ทบทวนรูปแบบธุรกิจ กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางธุรกิจคือ ต้องรู้ว่าตัวธุรกิจของเรามีอะไรที่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง การทบทวนธุรกิจอาจมีระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องใช้นวัตกรรมให้เป็นประโยชน์เพื่อป้องกันความเสี่ยง และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กรมีความราบรื่น

2.   เลือกสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เน้นไปที่การให้บริการ กำหนดวิธีการที่จะสร้าง เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ต้องการให้ชัดเจน เช่น กำหนดว่าใครคือพันธมิตร ใครเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับระบบปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และความเข้าใจต้นทุนทางธุรกิจ นอกจากนั้น ต้องรู้วิธีการสร้างความภักดีของลูกค้าและพันธมิตรด้วย

3.   ลดความซับซ้อนของระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความสามารถในการเติบโต ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดความซับซ้อนของรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่เดิม เพิ่มความทันสมัย และย้ายฐานลูกค้าไปยังระบบใหม่ที่ผ่านการทดสอบและพร้อมใช้งานแล้ว

4.   พัฒนาทาเลนท์ การเพิ่มพูนทักษะและศึกษาถึงรูปแบบของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น การจัดการค่าสินไหมทดแทน และการจ่ายชำระมีการเปลี่ยนแปลง หรือแตกต่างจากเดิมอย่างไร พนักงานจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร และจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการทำงานได้อย่างไร

5.   กระตุ้นเร่งรัดการจัดการและดำเนินการ การพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการและการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องหลักของธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจเดินมาถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก บริษัทแถวหน้าสามารถใช้ข้อได้เปรียบในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น

นาย สตีเฟน โอเฮิร์น หัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัย PwC โกลบอล และหุ้นส่วน PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ซีอีโอของบริษัทประกันภัยทั่วโลกมีความเชื่อมั่นในตัวธุรกิจ และกำลังเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้มากขึ้น รวมทั้งวางกลยุทธ์การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้เหมาะสม

“ทุกๆ ที่ที่ผมไป ผมเห็นธุรกิจประกันภัยผุดไอเดียใหม่ๆ เปิดรับโอกาสที่เกิดขึ้น และมีความมั่นใจต่ออนาคตของภาคธุรกิจ ก่อนหน้านี้ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะติดอยู่ในกระบวนการทดลองใช้งาน และห่างไกลจากการนำไปปฏิบัติให้ถึงมือลูกค้า แต่ปัจจุบันนี้ ภาคธุรกิจได้ยกระดับนวัตกรรมให้เป็นหัวใจของธุรกิจ โดยออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเกิดใหม่ก็ท้าทายธุรกิจประกันภัยรูปแบบเดิมๆ ด้วย”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น หลักสำคัญ 5 ประการจะเป็นแนวทางการปฏิบัติให้กับบริษัทประกันภัย ที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งบริษัทไหนที่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ได้ก่อน ในยุคที่ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำเกมส์ธุรกิจได้ไม่ยาก

นาย สตีเฟน ยังกล่าวถึงงานประชุม Global Insurance Leadership Meeting 2019 ที่ทางบริษัท PwC ประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เราได้มีการพูดคุยกันในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย เช่น เราพบว่าธุรกิจประกันภัยได้ยึดลูกค้าเป็นหัวใจของการทำธุรกิจมาอย่างยาวนานแล้ว แต่การที่จะทำความเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ลูกค้าต้องการอะไร และจะส่งมอบสิ่งที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้าได้อย่างไรต่างหาก ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

“ในปัจจุบัน ลูกค้าต้องการตัวเลือกที่หลากหลาย รวมถึงต้องการความยืดหยุ่น ความสะดวกสบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังต้องการช่องทางในการซื้อ และวิธีการที่จะใช้ติดต่อกับบริษัทประกันภัยเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าลงรายละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ฉะนั้น บริษัทประกันภัยต้องยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และมอบประสบการณ์ที่ดีให้ได้ จึงเห็น ธุรกิจประกันภัยต่างๆ นำเทคโนโลยี หรือเรียกว่า ‘อินชัวร์เทค’ มาใช้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ มาเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในยุคนี้” นาย สตีเฟน กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยหลายแห่งยังมีถิ่นที่ตั้งอยู่ในเอเชียที่มีคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่เปิดรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือแบบดิจิทัล โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ความเร็วในการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาคนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากระบบและกฎระเบียบที่ยังมีช่องว่างอยู่ นอกจากนั้น ช่องทางการกระจายสินค้าและบริการโดยบริษัทค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ยังช่วยเร่งความเร็วของการพัฒนานี้ด้วย



นาง อโนทัย ลีกิจวัฒนะ หัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัยภัย และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า งานประชุม Global Insurance Leadership Meeting 2019 ของ PwC ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ในปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้นำของ PwC ระดับภูมิภาค ผู้นำระดับกลุ่ม ผู้นำในแต่ละสายงานบริการ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จะได้มาอัพเดทเทรนด์ในอุตสาหกรรมประกันภัย และพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจประกันภัยด้วย

ในเอเชีย ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมซัพพลายและดีมานด์ ผลิตภัณฑ์และบริการในธุรกิจประกันภัยที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ รวมกับการที่ยังไม่มีบริษัทประกันภัยที่เป็นผู้ครองตลาดอย่างแท้จริง ถือเป็นปัจจัยที่เปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยในตลาดได้แข่งขันกันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในจีน ยังใช้ช่องทางดิจิทัลที่มีหลากหลายช่องทาง เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมากของธุรกิจประกันภัย นวัตกรรมเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของธุรกิจประกันภัยด้วย

“ในประเทศไทย บริษัทประกันภัยตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และรู้ว่าต้องปรับธุรกิจให้คล่องตัวมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เรารู้กันดีว่า เทคโนโลยีสำคัญมากในธุรกิจประกันภัย เพราะลูกค้าหันมาซื้อประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น ซึ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจประกันภัยของไทย”

สำหรับธุรกิจประกันภัยของไทย มีความคล้ายคลึงกับธุรกิจประกันภัยของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย คือกำลังเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขายผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเพื่อเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัลกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทประกันภัยจะต้องปรับธุรกิจ เน้นความเร็ว ความคล่องตัว และการจัดการให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังจำเป็นต้องสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ เลือกสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เหมาะสม ลดความซับซ้อนของระบบ และขยายขีดความสามารถสำหรับการเติบโตด้วยการพัฒนา และสร้างทาเลนท์ อีกทั้ง การเร่งรัดการดำเนินงานก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล

PwC ทำการสำรวจผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมประกันภัยจำนวน 140 ราย โดยเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี Annual Global CEO Survey ครั้งที่ 22 โดยชี้ให้เห็นว่า ความกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนเป็นการมองเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนี้

เกี่ยวกับรายงาน PwC’s Annual Global CEO Survey ครั้งที่ 22
PwC ทำการสัมภาษณ์ซีอีโอ 1,378 ราย ใน 91 ประเทศทั่วโลก ระหว่างเดือนกันยายน และ ตุลาคม 2561 โดยตัวอย่างผู้ให้สัมภาษณ์ได้รับการคำนวนถ่วงน้ำหนักจากจีดีพีของประเทศนั้นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ซีอีโอที่ได้สัมภาษณ์จะเป็นตัวแทนที่เหมาะสม และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ PwC ทำการสัมภาษณ์ทำผ่านทางโทรศัพท์ 10% ผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ 73% และ ทางไปรษณีย์และตัวต่อตัวอีก 17% โดยการสัมภาษณ์ทั้งหมด ถูกเก็บเป็นความลับ

เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเราคือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี  สำหรับประเทศไทยบริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 60 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2019 PwC. All rights reserved