วิเคราะห์โอกาสและความท้าทาย กับยุทธศาสตร์จีน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนร่วมเสวนายุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” - ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร (ที่สองจากซ้าย)
คุณอมฤทธิ์ ปั้นศิริ (ที่สองจากขวา) และคุณโจ ฮอร์น พัธโนทัย (ขวาสุด) โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น (ซ้ายสุด) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ ประเทศจีนเป็นชาติมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกที่ไม่ว่าจะขยับตัวไปทิศทางใดก็ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และในฐานะประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีนมาอย่างยาวนาน จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่ประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบต่างๆ ทั้งแง่บวกและแง่ลบจากแดนมังกรแห่งนี้ด้วย โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ Belt & Road Initiative (BRI) ของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” หรือที่เรียกในภาษาไทยว่าโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อแนะแนวทางวิสัยทัศน์ในการรับมือ พร้อมทั้งฉกฉวยโอกาสจากยุทธศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีนยุคใหม่ รุ่น 2 จึงจัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง: โอกาสและความท้าทาย - BRI: Opportunities and Challenges” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยได้เชิญนักวิชาการและนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญลึกซึ้งเกี่ยวกับประเทศจีนมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “CHINA 5.0” ได้อธิบายถึงคำจำกัดความของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ว่าเป็นโครงการที่ต้องการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของเส้นทางสายไหมที่ในอดีตเคยสร้างความรุ่งโรจน์ให้กับประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังมาแล้ว โดยโครงการนี้ประกอบด้วย แถบเศรษฐกิจสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มุ่งเน้นพัฒนาการเชื่อมต่อและยกระดับความร่วมมือของจีนกับประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา รวมกว่า 60 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรถึง 2 ใน 3 ของโลก เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเอง และยังเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ดร. อาร์มยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า BRI คือยุทธศาสตร์ขยายอิทธิพลในต่างประเทศของจีน เพื่อเผยแพร่โมเดลการพัฒนาประเทศในแบบของจีน “หากมองในแง่การปกครอง ชาติตะวันตก โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม พยายามเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเองเพราะเชื่อว่าวิธีของตนเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในขณะที่จีนมองว่าวัฒนธรรมของตนนั้นพิเศษ ไม่เหมือนใคร และไม่ใช่สิ่งที่จะต้องบังคับให้ชาติอื่นๆ มาเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่จีนสามารถเป็นตัวอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในโลกได้ก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะประเทศจีนสามารถก้าวกระโดดจากประเทศยากจนขึ้นมาสู่มหาอำนาจได้เช่นในทุกวันนี้ในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษเท่านั้น โดยโมเดลเศรษฐกิจของจีนมี 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ Infrastructure – การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Cities - การสร้างเมือง ให้เมืองใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาเมืองโดยรอบ และ Connectivity – การเชื่อมต่อจุดสำคัญต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ BRI ยังเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหาภายในประเทศของจีนเองด้วย โดยเฉพาะปัญหาผลผลิตเกินความต้องการของตลาด ซึ่งทำให้เสียดุลการค้า และนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม” ก่อนจบการปาฐกถา ดร. อาร์มได้พูดถึงจิตวิญญาณหมาป่า ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของนักล่า เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือชาติตะวันตก ที่ต้องการล่าเมืองอื่นมาเป็นของตน ขณะที่จีนนั้นเปรียบได้กับวัวที่รักสงบ แต่ในยุคปัจจุบันที่มีหมาป่าอยู่หลายตัว จีนจึงต้องปลุกจิตวิญญาณนักล่าของตนขึ้นมาเพื่อแสวงหาโอกาส และรับมือกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่อาจนิ่งเฉย ต้องเริ่มกระตุ้นตนเองในจุดนี้ด้วยเหมือนกัน คุณอมฤทธิ์ ปั้นศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กเซล ทรานสปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจกับประเทศจีน เป็นอีกท่านที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ BRI โดยกล่าวว่า “จีนเป็นประเทศที่มีความลึกล้ำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากการออกแบบเส้นทางขนส่งต่างๆ ที่ไม่เพียงคำนึงถึงการเชื่อมต่อจากจีนไปยังประเทศอื่น แต่ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและฤดูกาลในแต่ละพื้นที่อีกด้วย ทำให้มีการสร้างทางรถไฟที่ครอบคลุมเส้นทางหลายประเทศ และยังแบ่งระดับความเร็วตามการใช้งาน ภายในประเทศเองก็มีสนามบินมากกว่า 200 แห่ง และท่าเรือขนส่งสินค้า 34 ท่า ซึ่งใช้เป็นจุดกระจายสินค้า” “โครงการหนึ่งที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยโดยตรง คือการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งใน Trans-Asian Railway Network ที่มีความยาวร่วม 3,900 กิโลเมตร โดยเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างรัฐบาลจีน 70% และรัฐบาลลาว 30% ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ลาวกลายเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ที่สำคัญแห่งใหม่ของภูมิภาคนี้ เพราะสามารถเดินทางจากคุนหมิงมายังเวียงจันทน์ได้ภายในเวลาเพียง 10 ชั่วโมง จะทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยังเป็น Gateway สู่ทวีปยุโรปตะวันออกอีกด้วย ซึ่งไทยเองก็สามารถแสวงหาโอกาสตรงนี้ได้เช่นกัน” คุณโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยุทธศาสตร์ 613 จำกัด กล่าวถึงภูมิทัศน์การลงทุนระหว่างไทยและจีนว่า “ความจริงแล้ววัฒนธรรมการทำธุรกิจของคนไทยกับคนจีนมีความคล้ายกันหลายอย่าง เช่น การใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ การให้ความสำคัญกับการสร้างมิตรภาพและความไว้ใจ มาก่อนการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นสูง และเน้นเรื่องความเชื่อใจเป็นอย่างมาก จึงมักไม่ชอบใช้ทนายหรือที่ปรึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ แบรนด์ไทยก็ได้รับการยอมรับ จนเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งภาคธุรกิจไทยก็ได้ใช้กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลองสินค้าต่างๆ ก่อนที่จะส่งออกไปขายในประเทศจีนต่อไป” แต่แม้จะมีจุดแข็งมากมาย ก็ยังมีแบรนด์ไทยไม่มากนักที่สามารถเข้าไปตีตลาดในประเทศจีนได้อย่างมั่นคง “ถึงแม้ไทยจะเป็นหนึ่งในชาติแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน ส่วนใหญ่ก็มักพบกับความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางกรณีที่ประสบความสำเร็จ และสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้ เช่น กลุ่มบริษัท ซีพี มิตรผล บ้านปู เครือสหพัฒน์ เครือเซ็นทรัล ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และกระทิงแดง” คุณโจกล่าวเสริม หลังจบการปาฐกถา ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามท่านได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับ BRI โดยมีนักวิเคราะห์ข่าวชื่อดัง คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับมือกับยุทธศาสตร์จีน และการสร้างวิสัยทัศน์เชิงรุก เพื่อความอยู่รอดในยุคที่มีหมาป่าหลายตัว โดยเฉพาะในปัจจุบันที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์กลายเป็นปัญหาสำคัญ หากไทยยังไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของตนได้อย่างชัดเจน และขาดเอกภาพในการดำเนินงาน ก็จะสูญเสียโอกาส รวมถึงเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าให้กับประเทศอื่นได้ “ไม่ว่าจะในระดับบริษัท หรือระดับประเทศ เราจะไม่เรียนรู้ยุทธศาสตร์จีนไม่ได้ ถึงไม่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีน แต่ก็ต้องเรียนรู้ไว้เพื่อจะหลบเลี่ยงได้” คุณโจกล่าวสรุปในท้ายที่สุด