MSN on May 29, 2019, 02:02:40 PM
ซีอีโอทั่วโลกผลัดใบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผู้รับไม้ต่อจากซีอีโอที่อยู่ในวาระยาวนานเผชิญความท้าทายในการบริหารมากกว่า

กรุงเทพฯ, 29 พฤษภาคม 2562 – บริษัท Strategy& ของ PwC เผยการศึกษาพบองค์กรทั่วโลกมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งซีอีโอสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2561 ที่ 17% ขณะที่สัดส่วนของซีอีโอที่ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งเพราะกระทำผิดทางด้านจริยธรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าปัญหาผลประกอบการแย่-ขัดแย้งกับบอร์ด ชี้ซีอีโอใหม่ที่รับช่วงต่อจากซีอีโอที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ มีแนวโน้มที่จะมีผลงานลดลงกว่าซีอีโอเดิม พร้อมแนะผู้บริหารวางแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างรัดกุม เพื่อผลการดำเนินงานที่ยั่งยืนขององค์กร


นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษาความสำเร็จของซีอีโอประจำปี 2561 หรือ 2018 CEO Success study ที่จัดทำโดย Strategy& ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของ PwC โดยทำการวิเคราะห์การส่งต่อการบริหารของซีอีโอ (CEO succession) ของบริษัทมหาชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 2,500 แห่งในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2561 องค์กรทั่วโลกมีการผลัดเปลี่ยนซีอีโอสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 17% ในขณะที่ค่ากลางของช่วงระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของซีอีโอนั้นอยู่ที่ 5 ปี และมี 19% ของซีอีโอที่อยู่ในตำแหน่งนานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้น

ทั้งนี้ การศึกษาของ Strategy& ระบุว่า แม้จะมีผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยี การแข่งขันที่เข้มข้น และนักลงทุนที่แสวงหาการควบรวมกิจการ แต่กลุ่มซีอีโอที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานหรือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14 ปี และมีผลการดำเนินงานที่ดี มีโอกาสที่จะถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งน้อยกว่าซีอีโอที่อยู่ในตำแหน่งสั้นกว่า โดยหากพิจารณาในระดับภูมิภาคพบว่า ซีอีโอในทวีปอเมริกาเหนือ มีแนวโน้มที่จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานที่สุดที่ 30% ตามด้วยซีอีโอในยุโรปตะวันตกที่ 19%, ซีอีโอในญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศ BRI ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย และอินเดียที่ 9% และซีอีโอในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ 7%
นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของซีอีโอที่ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งจากการกระทำผิดด้านจริยธรรมในปี 2561 โดยมีซีอีโอจำนวนมากขึ้น (39%) ที่ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งจากความผิดด้านจริยธรรม มากกว่าด้านปัญหาด้านผลประกอบการทางการเงิน หรือความขัดแย้งกับคณะกรรมการบริษัท ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการทำการศึกษานี้ ตัวเลขนี้ยังได้เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ 26% ในปี 2560
 
หนทางข้างหน้าที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ซีอีโอผู้รับช่วงต่อจากซีอีโอที่เคยอยู่ในตำแหน่งมายาวนานนั้น มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในเรื่องของระยะเวลาในตำแหน่งที่อาจจะสั้นกว่า ผลการดำเนินงานที่ด้อยกว่า และหลายครั้งพบว่า มีโอกาสถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งมากกว่าจะรอให้ซีอีโอคนใหม่มาแทนด้วย ทั้งนี้ หากแบ่งผลการดำเนินงานออกเป็นสี่ส่วน เปรียบเทียบกับซีอีโอรุ่นก่อน พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สืบทอดตำแหน่งซีอีโอต่อจากซีอีโอที่อยู่ในวาระนาน มีแนวโน้มที่จะมีผลการดำเนินงานอยู่ในลำดับที่ลดลงหนึ่งส่วน หรือมากกว่านั้น  ขณะเดียวกันที่ 69% ของผู้สืบทอดซีอีโอที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนานและมีผลการดำเนินงานเคยอยู่ในลำดับที่หนึ่ง ก็มีแนวโน้มที่จะมีผลการดำเนินงานลดลงมาอยู่ในลำดับที่สามและสี่

“จะเห็นได้ว่า โอกาสที่ซีอีโอคนใหม่ที่เข้ามาทำงานต่อจากซีอีโอคนเก่าที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก” นาย เพอร์-โอลา คาร์ลสสัน หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานด้านองค์กร การเปลี่ยนแปลง และความเป็นผู้นำของ Strategy& ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง กล่าว

“ผู้สืบทอดตำแหน่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนกลับมาให้ผู้ถือหุ้นในระดับที่ต่ำกว่า และมีโอกาสถูกขับให้ออกจากตำแหน่งมากกว่าผู้นำยุคก่อนที่อยู่เป็นตำนานและเพื่อนร่วมงานของพวกเขาด้วย” เขากล่าว

การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของซีอีโอในปี 2561
ผลการศึกษาพบว่า การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งซีอีโอของบริษัทมหาชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 2,500 แห่งเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 17.5% ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 3% จาก 14.5% เมื่อปี 2560 และสูงกว่าค่ามาตรฐานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

โดยการผลัดเปลี่ยนตำแหน่งซีอีโอนี้ยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั่วทั้งภูมิภาคในปีที่ผ่านมา ยกเว้นจีน และรวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในทวีปยุโรปตะวันตก นอกจากนี้ การผลัดเปลี่ยนซีอีโอยังอยู่ในระดับสูงที่สุดใน “กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่นๆ” (เช่น ออสเตรเลีย ชิลี และ โปแลนด์) ด้วยที่ 21.9% และสูงเกือบจะเท่ากับบราซิล รัสเซีย และอินเดีย (21.6%) ส่วนตัวเลขการปรับขึ้นสูงสุดถัดมาอยู่ในทวีปยุโรปตะวันตก (19.8%) และต่ำสุดในทวีปอเมริกาเหนือ (14.7%)
หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ธุรกิจบริการด้านการสื่อสาร มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งซีอีโอสูงที่สุด (24.5%) ตามมาด้วยกลุ่มวัสดุ (22.3%) และพลังงาน (19.7%) ส่วนอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ มีอัตราการผลัดเปลี่ยนซีอีโออยู่ในระดับต่ำที่สุดในปีที่ผ่านมา (11.6%)

ผู้หญิงแถวหน้า
ในส่วนของการศึกษาถึงผู้หญิงที่กำลังจะเข้ามาเป็นซีอีโอนั้นพบว่า สัดส่วนลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 4.9% ในปีที่แล้วจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6% ในปี 2560 อย่างไรก็ดี แนวโน้มนี้ได้มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่เคยแตะระดับต่ำที่ 1% ในปี 2551 ซึ่งนี่แตกต่างจากปี 2560 ที่สถิติแตะจุดสูงสุดเพราะได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของซีอีโอหญิงในสหรัฐฯ และแคนาดาที่ 9.3% ขณะที่อัตราการเติบโตสูงสุดในปี 2560 มาจากบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อนึ่ง อุตสาหกรรมสาธารณูปโภค ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีส่วนแบ่งซีอีโอหญิงที่ใหญ่ที่สุดที่ 9.5% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจบริการด้านการสื่อสาร และ กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินที่ 7.5% และ 7.4% ตามลำดับ

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยก็เห็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งซีอีโอในสัดส่วนที่สูงในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการศึกษา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการส่งไม้ต่อจากการบริหารจากรุ่นพ่อแม่สู่ผู้นำรุ่นลูก หรือ ซีอีโอคนปัจจุบันใกล้ครบวาระ หรือเกษียณอายุ

“สิ่งที่ท้าทายอันดับหนึ่งสำหรับซีอีโอที่ต้องเข้ามารับไม้ต่อการบริหารงานจากซีอีโอเดิมที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา นานๆ คือจะสานต่อนโยบายเดิมที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อมาขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ การบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรภายในองค์กร ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ซีอีโอใหม่ต้องเผชิญ เนื่องจากรูปแบบการบริหารงานของซีอีโอแต่ละท่านนั้น ย่อมแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น การสื่อสารกับพนักงานให้ทราบถึงวิสัยทัศน์ นโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร รวมทั้งทิศทางของการนำใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคู่กับการพัฒนาทักษะของพนักงานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ และน่าจะช่วยลดแรงต้าน หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารภายใต้ซีอีโอคนใหม่ ให้มีความราบรื่นและส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างยั่งยืนได้”

เกี่ยวกับรายงานความสำเร็จของซีอีโอประจำปี 2561
ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา บริษัท Strategy& ได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการส่งต่อการบริหารของซีอีโออย่างต่อเนื่อง โดยผลการศึกษาในปี 2561 ได้วิเคราะห์ถึงการสืบทอดตำแหน่งซีอีโอของบริษัทมหาชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 2,500 แห่ง (ตามมูลค่าตลาด) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเราให้นิยามของการถอดถอนซีอีโอจากปัญหาด้านจริยธรรม อันเป็นผลมาจากเรื่องอื้อฉาว หรือการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของซีอีโอ หรือพนักงานคนอื่นๆ ตัวอย่าง เช่น การฉ้อโกง การติดสินบน การนำข้อมูลภายในไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ภัยพิบัตรทางสิ่งแวดล้อม ประวัติการทำงานที่เกินจริง และความประพฤติทางเพศที่ไม่เหมาะสม

เพื่อวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ บริษัท Strategy& ได้จัดประเภทของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตามการจัดอันดับของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำปี 2561 โดยข้อมูลผลตอบแทนผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ซีอีโอดำรงตำแหน่งถูกอ้างอิงมาจากบลูมเบิร์ก และรวมถึงการลงทุนใหม่ของเงินปันผล (ถ้ามี) ทั้งนี้ ข้อมูลผลตอบแทนผู้ถือหุ้นทั้งหมดมีการปรับตามตลาดในภูมิภาค (วัดจากความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนของบริษัท และผลตอบแทนของดัชนีภูมิภาคหลักในช่วงเวลาเดียวกัน) และผลตอบแทนประจำปี

เกี่ยวกับ Strategy&
Strategy& เป็นธุรกิจที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ระดับโลกที่ช่วยธุรกิจสร้างโอกาสในอนาคตที่ดีที่สุดบนพื้นฐานของการสร้างความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของคุณ

ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของ PwC ในทุกวันเราคิดค้นและวางระบบสำหรับผู้ชนะ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโต เราผสมผสานการคาดการณ์ที่ทรงพลังเข้ากับความรู้และทักษะที่จับต้องได้ พร้อมด้วยเทคโนโลยี ก่อนนำมาปรับใช้เพื่อช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถมีกลยุทธ์ที่จะสร้างความแตกต่างได้ตั้งแต่วันแรก

ในฐานะธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ให้บริการมืออาชีพระดับโลก เราผสมผสานความรู้ความสามารถในการวางกลยุทธ์เข้ากับทีมผู้เชี่ยวชาญทั่วทั้งเครือข่ายของ PwC เพื่อช่วยให้คุณเห็นถึงหนทางที่จะไปต่อ และตัดสินใจเลือกหนทางที่ถูกต้องในการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยให้กระบวนการสร้างกลยุทธ์นั้นมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ ช่วยให้วันนี้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่ผลลัพธ์ที่เหนือกว่าในพรุ่งนี้ ด้วยกลยุทธ์ที่จะเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่ความเป็นจริง กลยุทธ์ ที่ทำได้จริง

ข้อความถึงบรรณาธิการ
1.   หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาคลิก Strategy&

2.   © 2019 PwC. All rights reserved. PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.