sianbun on February 07, 2010, 10:45:26 AM
ไอบีเอ็มครองแชมป์ผู้นำด้านสิทธิบัตร 17 ปีซ้อน


มร. จอห์น กันเนลส์ (John Gunnels) นักวิจัยของไอบีเอ็ม ถ่ายภาพกับสิทธิบัตรหมายเลข 7,506,196 ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปิดโอกาสให้ระบบการทำงานของเน็ตเวิร์กภายในซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ บลู ยีน ของไอบีเอ็ม สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

                                               
บลู ยีน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ (Blue Gene Supercomputer) ของไอบีเอ็ม ที่ทำให้ไอบีเอ็มได้รับรางวัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Medal of Technology and Innovation) จากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในปีที่แล้ว ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สนับสนุนงานด้านการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐฯ 

ที่ผ่านมา ด้วยความเร็ว สมรรถนะและความเสถียรของระบบอันโดดเด่น บลู ยีน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มได้ถูกนำไปใช้ในงานสำคัญ ๆ มากมาย อาทิ เช่น งานทางด้านชีววิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา หรือ การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น 
« Last Edit: February 07, 2010, 11:28:06 AM by sianbun »

sianbun on February 07, 2010, 11:29:49 AM
ไอบีเอ็มตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยจำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับในสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 17 ปีซ้อน

นอกจากนั้น  ไอบีเอ็มยังเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาของไอบีเอ็มเกือบ 4,000 รายการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและแผ้วทางสู่การพัฒนาโลกให้ ‘ฉลาดขึ้น’ ต่อไป

อาร์มองค์ นิวยอร์ก 5 กุมภาพันธ์ 2553 ....บริษัท ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชัน ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก โดยเป็นองค์กรที่ได้รับจำนวนสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ปี 2552 สูงถึง 4,914 รายการ สูงเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 17 นอกจากนั้น เพื่อเป็นการแผ้วถางสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปของมวลมนุษยชาติและตอบสนองวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็มในการช่วยทำให้โลก ‘ฉลาดขึ้น’ ไอบีเอ็มยังเปิดเผยข้อมูลสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาที่คิดค้นโดยไอบีเอ็มเกือบ 4,000 รายการให้สาธารณชนและองค์กรทั่วไปเข้าถึงและนำไปใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย

องค์กรที่ได้รับสิทธิบัตรในสหรัฐฯ  สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2552 ได้แก่

      องค์กร   จำนวนสิทธิบัตร

ไอบีเอ็ม   4,914
ซัมซุง   3,611
ไมโครซอฟท์  2,906
แคนนอน   2,206
พานาโซนิค  1,829
โตชิบา   1,696
โซนี่   1,680
อินเทล   1,537
ไซโก้ เอปสัน  1,330
เอชพี    1,273   
 

แหล่งที่มา: IFI Patent Intelligence (www.ificlaims.com)

เพื่อเป็นการสนับสนุนสาธารณชนในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมจากสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาของไอบีเอ็ม เพื่อแผ้วทางสู่ความเจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและการพัฒนางานในด้านต่าง ๆ ตอบสนองวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็มในการทำให้โลก ‘ฉลาดขึ้น’ ไอบีเอ็มยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาของตนเกือบ 4,000 รายการ ให้สาธารณชนและองค์กรทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงและนำสิ่งประดิษฐ์รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญาของไอบีเอ็มไปต่อยอดกับนวัตกรรมของตนเองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น  เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์กรหลายแห่งที่ต้องการปรับปรุงการบริหารจัดการสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มีแนวคิดในการสนับสนุนการใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ไอบีเอ็มยังได้เปิดตัวซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนความต้องการในด้านดังกล่าว โดยซอฟต์แวร์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินคุณภาพสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่มีอยู่ ช่วยหาโอกาสและช่องทางใหม่ ๆ ในการจดสิทธิบัตร รวมทั้งสนับสนุนแนวทางการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าว ได้มาจากบทเรียนและประสบการณ์ของไอบีเอ็มกว่า 10 ปีที่ต้องบริหารจัดการสิทธิบัตรของตนกว่า 30,000 ชิ้นให้เกิดคุณประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่ได้รับสิทธิบัตรของไอบีเอ็มในสหรัฐฯ  ในปี 2552

ระบบและวิธีการควบคุมการอพยพคนออกจากอาคารอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (System and Method for Dynamically and Efficiently Directing Evacuation of a Building During an Emergency Condition) - สิทธิบัตร รายการที่ 7,579,945
 
สิทธิบัตรนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอพยพผู้คนออกจากอาคารโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งข้อมูลบางส่วนได้มาจากอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ภายในอาคาร วิธีการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมากและอาจมีทางหนีไฟหลายทางหรือมีจำนวนทางหนีไฟไม่เพียงพอ  โดยหลักการทำงานก็คือ เซนเซอร์จะทำหน้าที่ตรวจจับและตรวจสอบติดตามสถานะของสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนลักษณะการเคลื่อนตัวของผู้คนที่อพยพออกจากอาคาร ตำแหน่งที่ตั้งของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอาคาร  เป็นต้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลพิมพ์เขียวของอาคารซึ่งแสดงตำแหน่งของประตู บันได และหน้าต่าง  ซึ่งเมื่อมีการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลแล้ว จะช่วยทำให้การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินภายในอาคารทำได้อย่างฉับไว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

วิธีการตรวจสอบการใช้งานหลอดไฟเพื่อการส่องสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ (Method for Determination of Efficient Lighting Use) - สิทธิบัตร  รายการที่ 7,518,715
 
ปัจจุบัน ในหลายประเทศ มีการออกกฎหมายให้องค์กรต่าง ๆ เปลี่ยนการใช้หลอดไฟจากการใช้หลอดไส้ (Incandescent) มาเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ซึ่งประหยัดไฟกว่า ด้วยกฏหมายดังกล่าว ทำให้หน่วยงานและองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องตรวจสอบว่าองค์กรของตนได้ปรับเปลี่ยนหลอดไฟภายในอาคารต่าง ๆ ครบถ้วนตามกฏหมายหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ในองค์กรบางแห่งที่ต้องมีการเปลี่ยนหลอดไฟจำนวนมาก และมีหลอดไฟหลายดวงที่อาจอยู่ในจุดที่มองเห็นหรือเข้าถึงได้ยาก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นต้น การตรวสอบว่าหลอดไฟทั้งหมดภายในอาคาร เป็นหลอดไส้หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์นั้นทำได้ยากยิ่ง ด้วยสิทธิบัตรของไอบีเอ็มนี้จะอธิบายถึงเทคโนโลยีซึ่งรวมถึงเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจวัดชนิดและความเข้มของแสงที่ออกมาจากหลอดไฟ  เนื่องจากหลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอดไส้จะมีความเข้มของสี โทนแสง และคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทำให้การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตรวจจับจะทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่า เมื่อเทียบกับทำด้วยตาเปล่า
 
สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ (Massively Parallel Supercomputer) – สิทธิบัตร รายการที่ 7,555,566 
 
ด้วยระยะห่างทางกายภาพระหว่างไมโครโปรเซสเซอร์จำนวนมากในซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ เช่น ไอบีเอ็ม บลู ยีน (IBM Blue Gene) อาจทำให้การรับส่งคำสั่งเพื่อการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์ช้าลง  สิทธิบัตรนี้ของไอบีเอ็ม อธิบายวิธีการเร่งความเร็วในการรับส่งคำสั่งระหว่างไมโครโปรเซสเซอร์  ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาบลู ยีน ให้สามารถทำการคำนวณได้ในอัตราหนึ่งล้านล้านรายการต่อวินาที หรือหนึ่งเพตาฟล็อป (petaflop) นอกจากนั้น สิทธิบัตรนี้ยังเกี่ยวข้องกับงานหลายๆ ด้านที่มีการนำไอบีเอ็ม บลู ยีนไปใช้งาน เช่น การสร้างแผนผังจีโนมของมนุษย์ การตรวจสอบวิธีการรักษาทางการแพทย์ การปกป้องหัวรบนิวเคลียร์ การสร้างแบบจำลองการกัดกร่อนสสารด้วยกัมมันตรังสี การจำลองสมรรถนะของสมอง การชี้จุดที่เป็นเนื้องอกในร่างกาย การคาดการณ์แนวโน้มทางสภาวะอากาศ หรือการค้นหาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในโลก เป็นต้น 

ด้วยสมรรถนะและความสามารถอันโดดเด่นของบลู ยีน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มนี้เอง ในปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้มอบรางวัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Medal of Technology and Innovation) ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สนับสนุนด้านนวัตกรรมของสหรัฐฯ ให้กับบลู ยีน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม  ซึ่งที่ผ่านมา รางวัลดังกล่าวได้มอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นยอดที่ได้สร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ทางด้านเทคโนโลยี

การเรียกใช้เว็บเซอร์วิสแบบไดนามิก (U.S. Patent 7,475,145 -Dynamic Invocation of Web Services) - สิทธิบัตร รายการที่ 7,475,145 
 
โดยทั่วไปแล้ว เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวและประหยัดค่าใช้จ่าย  อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผู้ดูแลระบบ (System Administrator) จำเป็นต้องควบคุมสภาพแวดล้อมของคลาวด์ให้สามารถเชื่อมโยงบริการเว็บบางประเภทเข้ากับอินเทอร์เฟซและซอฟต์แวร์ในระบบ ด้วยสิทธิบัตรนี้ของไอบีเอ็มจะอธิบายวิธีการที่ทำให้กระบวนการดังกล่าวทำได้แบบอัตโนมัติ เพื่อทำให้ระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งจัดหาเว็บเซอร์วิสให้กับผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ  ซึ่งระบบอัตโนมัติดังกล่าวนี้เองจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานและผู้ดูแลระบบ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานไปพร้อม ๆ กัน
 
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิบัตรหรือการค้นคว้าวิจัยของไอบีเอ็ฒ สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/research 

ตัวอย่างฐานข้อมูลสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาของไอบีเอ็มที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ เข้าไปที่ www.alphaworks.ibm.com